เมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 นายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) กล่าวเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปลงพื้นที่แม่สอดเพื่อติดตามปัญหาตามแนวชายแดนไทย เมียนมา ที่เกิดขึ้นจากการสู้รบในเมียนมาเพื่อจะได้ทราบข้อมูล ที่ทันสถานการณ์เพื่อใช้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น  และกมธ.การต่างประเทศขอบคุณรัฐบาลที่ตั้งคณะกรรมการติดตามปัญหาเมียนมาตามแนวทางที่กมธ.เคยเสนอไป นอกจากนั้นประเทศไทยควรมีแผนรองรับปัญหาการอพยพ และการสู้รบในเมียนมาและนโยบายเรื่องแรงงานต่างชาติอย่างครอบคลุม ซึ่งแผนนี้ไม่แน่ใจว่ามีหรือยัง กมธ.เห็นว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นสิ่งซึ่งกมธ.คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น คือการสู้รบจะทำให้มีผู้อพยพหลั่งไหลหนีภัยสงครามเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมากซึ่งในขณะนี้ทราบว่ามีจำนวนหลายพันคนแล้วและยังมีจำนวนที่ตรวจสอบไม่ได้อีกไม่น้อย เพราะขณะนี้ทราบว่ามีคนต่างด้าวซ่อนตัวในจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯบ้างแล้ว ประกอบกับปัญหาของคนเมียนมาที่เลี่ยงการเกณฑ์ทหารและอพยพข้ามเข้ามาในไทยมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอนเพราะ เราไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่และจะเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายที่ไม่มีเอกสาร

นายนพดล กล่าวต่อว่าปัญหาการสู้รบในเมียนมาในขณะนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลกแม้กระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มจี 7 ก็พึ่งมีแถลงการณ์หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีแถลงการณ์ในประเด็นเมียนมา ซึ่งกมธ.ต่างประเทศ ขอยำ้ข้อเสนอให้ประเทศไทยเป็นหัวหอกในการผลักดันการแก้ปัญหาและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากทั่วโลกเพื่อช่วยพี่น้องเมียนมาและกลุ่มชาติพันธ์ุที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบ และเสนอว่าประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนความห่วงใยของสังคมโลกเป็นการช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมให้กับชาวเมียนมา  เพื่อแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมและผลักดันการสร้างสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งแนวทางในระดับอาเซียนเริ่มต้นจากฉันทามติ 5 ข้อ และแนวทางของกลุ่มประเทศจี 7 ก็มีบางส่วนระบุไว้ในคำแถลงการณ์ ประกอบกับขณะนี้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษเรื่องเมียนมาของสหประชาชาติ และมีตัวแทนพิเศษเรื่องเมียนมาของอาเซียน ตนขอยำ้ว่าข้อเสนอของ กมธ.เรื่องทรอยก้าพลัสที่จะเป็นกลุ่มขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพม่าที่ประเทศไทยเป็นหัวหอกร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย และอาจขยายไปยังประเทศอื่นๆ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา

“ขณะนี้มีสงครามในหลายภูมิภาคทั่วโลก  แต่ปัญหาเมียนมาก็ควรได้รับการความใส่ใจและได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม  ได้เวลาหรือยังที่จะมีการประชุมปรึกษาหารือของประเทศต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน“