เมื่อวันที่ 20 เม.ย.67 พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมด้วยนายเอกพงค์ มุสิกะเจริญ ผอ.สำนักส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัด อว. เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างการรับรู้และเครือข่ายความร่วมมือภายใต้โครงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ฟาร์มตัวอย่างในพระราช ดำริบ้านปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยมีนายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ส่วนราชการ ปศุสัตว์จังหวัด หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เครือข่ายอุดมศึกษา และเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เข้าร่วม
โดย พญ.เพชรดาว กล่าวเปิดงานพร้อมมอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ว่า กระทรวง อว.จะผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ทำให้ภาคเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดนมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐาน มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจในอนาคต มีการสร้างแบรนด์และความเป็นอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ บ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ สร้างโอกาสทางการตลาดและการเจรจาธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์เศรษฐกิจของชายแดนภาคใต้คือแพะ โดยกว่า 80% ชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ต้องใช้แพะในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่เกิด ถ้ามีลูกชายใช้แพะรับขวัญ 2 ตัว ลูกสาวใช้แพะรับขวัญ 1 ตัว นอกจากนี้ ยังมีพิธี “ฮารีรายอ” ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม ก็ต้องใช้แพะ ดังนั้นจึงต้องคิดเรื่องของปศุสัตว์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้ครบวงจร เต็มรูปแบบ และจะต้องทำให้ผู้ประกอบการยืนได้ด้วยตัวเอง โดยกระทรวง อว.จะสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อที่ประชาชนของชายแดนภาตใต้จะได้ไม่ลำบากเรื่องปากท้อง กินอิ่ม นอนหลับ
“ที่สำคัญกระทรวง อว.โดย กปว.จะสนับสนุนการสร้างการรับรู้และเชื่อมโยง soft power ด้วยซีรีย์นมแพะ ชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยซีรีย์จะบอกเล่าตั้งแต่ชีวิตของเกษตรกรว่าอยู่กันอย่างไร เลี้ยงแพะด้วยวิธีอย่างไร อาหารที่แพะได้กินมีคุณภาพอย่างไร เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ คนในพื้นที่ แล้วยังเชื่อมโยงไปภึงเรื่องการท่องเที่ยวด้วย ต้องพยายามสร้างชายแดนภาคใต้ให้เป็นจุดเช็คอินให้ได้ว่ามาถึงที่นี่แล้วต้องมากินนมแพะหรือผลิตภัณฑ์จากแพะแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ดังนั้นขอให้ติดตามซีรีย์นมแพะ soft power ของจังหวัดชายแดนภาคใต้” พญ.เพชรดาว กล่าว