ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,543 ล้านบาท ลดลง 13.1% จากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ภายใต้นโยบายการบริหารความเสี่ยงรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจกระทบคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ธนาคารยังคงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรมโดยเคร่งครัด ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงเติบโตที่ 2.7% ในไตรมาสแรกของปี 2567 แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อยจะปรับตัวลดลงตามปัจจัยด้านฤดูกาล ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อรวมลดลง 0.9% จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2566 นอกจากนี้ สินเชื่ออาเซียนของกรุงศรียังคงเติบโตที่ 4.0% ในไตรมาสแรกปี 2567 จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดภูมิภาค
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสแรกของปี 2567
-กำไรสุทธิ จำนวน 7,543 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2567 ลดลง 13.1% หรือจำนวน 1,133 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรอง ภายใต้นโยบายการบริหารความเสี่ยงรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจกระทบคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
-เงินให้สินเชื่อรวม ลดลง 0.9% หรือจำนวน 17,252 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวลดลงตามฤดูกาลของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อย ในขณะเดียวกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่ออาเซียนยังคงเติบโตที่ 2.7% และ 4.0% ตามลำดับ
-เงินรับฝาก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 8.9% หรือจำนวน 164,500 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำ
-ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.16% เพิ่มขึ้นจาก 3.35% ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของยอดคงค้างของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สี่ของปี 2566 และจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ
-รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 26.9% หรือ 2,383 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ จากกิจการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ควบรวมมาในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สี่ของปี 2566
-อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นสู่ 43.0% จาก 44.4% ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
-อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.69% เมื่อเทียบกับ 2.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่การตั้งสำรองอย่างรอบคอบระมัดระวังโดยเฉพาะสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมปรับสูงขึ้นสู่ระดับที่ 248 เบสิสพอยท์ ในไตรมาสแรกของปี 2567 หากไม่รวมพอร์ตโฟลิโอของสินเชื่ออาเซียน อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.30%
-อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 141.5%
-อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 18.08% เทียบกับ 18.24% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคบริการ ด้วยแรงส่งจากการท่องเที่ยว รวมถึง การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการผลิตในบางประเภทอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณฯ ประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในไตรมาสที่ผ่านมา”
“ภายใต้บริบทความท้าทายดังกล่าว กรุงศรียังคงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ 2.7% โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวมปีนี้ที่ 3-5%”
โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 2.00 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 2.00 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.86 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 310.29 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.08% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 13.44%