เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์รายการไปตามเกม ทางสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ถึงสถานการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อิสราเอลจะโจมตีโรงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิสราเอลจะต้องตัดสินใจนำเอาการป้องปรามกลับมาด้วยการโจมตีอิหร่าน และเชื่อว่าอิหร่านเองก็มีความกังวลภายหลังจากที่โจมตีอิสราเอลไปก่อนหน้านี้แล้ว  แต่ทั้งนี้อิหร่านเองก็อาจจะไม่มีทางเลือกมาก เมื่อถูกอิสราเอลโจมตีหลายๆรูปแบบ จนข้ามเส้นไปสู่การโจมตีสถานกงสุล ดังนั้นจึงทำให้อิหร่านจำเป็นที่จะต้องโต้ตอบ คิดว่าทุกฝ่ายก็เป็นกังวลว่าสถานการณ์ตอนนี้อาจจะควบคุมไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ทางสหรัฐฯเองซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งอิหร่านก็เห็นความระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอลมาหลายเดือน สหรัฐฯไม่แข็งขันในการปกป้องอิสราเอลเหมือนที่เคยผ่านมา ทำให้อิหร่านกล้าตัดสินใจที่จะโจมตีอิสราเอล ดังนั้นนี่คือประเด็นที่ต้องคิดกันใหม่ว่าจากนี้จะทำอย่างไร อิสราเอลจะนำเอาการป้องปราม เพื่อไม่ให้อิหร่านรุกคืบเข้ามาได้ เหมือนกับในอดีตได้อย่างไร รูปแบบ การกระทำแบบเดิมทั้งการลอบโจมตี การลอบสังหารที่ว่ากันว่าอิสราเอลเป็นคนทำ การเข้าไปโจมตีเครือข่ายของอิหร่านตอนนี้ไม่ค่อยได้ผลแล้ว จึงมึความพยายามที่จะโจมตีที่ตั้งของนิวเคลียร์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยทำมาแล้วที่ซีเรีย ที่อิรัก แต่ไม่เคยรับจนหลายสิบปีผ่านไป เพิ่งออกมายอมรับ

เมื่อถามว่าหากมีการไปโจมตีโรงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ความเสียหายจะมีมากขนาดไหน รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า จะมีปัญหาแน่นอน เนื่องจากที่ตั้งเหล่านี้หลายส่วนอยู่ในชุมชน ก็อาจจะกระทบกับคนที่ทำงานด้านพลังงาน ด้านปรมานูเพื่อสันติ และสามารถพลิกเปลี่ยนเป็นอาวุธได้ด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังตรวจสอบไม่ได้ เพราะองค์การสหประชาชาติ ไม่สามารถเข้าไปได้

แต่ถ้าโจมตีจุดดังกล่าวก็อาจจะถูกพลเรือน ทำให้อิสราเอลถูกข้อกล่าวหาเพิ่มขึ้นอีก แต่ทั้งนี้มีทางออก นอกจากการโจมตี ขณะนี้สหรัฐฯ ให้ประเทศอุตสาหกรรม 7ประเทศช่วยประสานงานที่จะคว่ำบาตรอิหร่าน  แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะสหรัฐฯคว่ำบาตรเกือบเต็มที่แล้ว ซึ่งเวลานี้กำลังคุยกันอยู่ว่าแต่ละประเทศจะคว่ำบาตรเพิ่มเติมอย่างไร และอีกทางหนึ่งที่อาจจะกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากอิหร่านส่งออกน้ำมัน ซึ่งมีการพูดกันว่าจะมีการคว่ำบาตรเรื่องพลังงานอีกสักระลอกหนึ่งหรือไม่  แม้จะไม่ได้ส่งออกมาแต่ก็มีผล  จึงทำให้อิหร่านต้องต่อสายตรงคุยกับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย ซึ่งปูตินก็ให้กำลังใจ ซึ่งระบุว่านานาชาติอาจจะยับยั้งชั่งใจไม่ทำอะไรให้เกิดการตึงเครียดมากกว่านี้ ดังนั้นสถานการณ์เวลานี้เราถือว่าเข้าสู่สมรภูมิใหม่ พื้นที่ใหม่ เนื่องจากวิธีการแบบเดิมๆใช้ไม่ได้ผลและมีความผิดพลาด

เมื่อถามว่า จากนี้ท่าทีของอิสราเอลจะทำอย่างไรต่อ รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า น่าจะเดินสองทาง ด้านหนึ่งคือการเดินตามสหรัฐฯ คือการทูตแบบปิดล้อมอิหร่าน ใช้มาตรการคว่ำบาตรหลายรูปแบบต่อไป และจะเป็นเอกภาพขึ้น  ทำให้ที่ระหองระแหงกับอิสราเอลดีขึ้น ระหว่างยุโรปกับอิสราเอล ส่วนเรื่องที่สองคืออิสราเอลจะเลือกโจมตีให้ได้ผล ไม่บานปลายและให้เกิดแนวคิดเรื่องการป้องปรามกลับมาใหม่ ซึ่งสามปัจจัยที่จะต้องทำให้ได้ และยากที่สุดหากจะต้องดำเนินการทางทหาร  ทางฝ่ายอิหร่านเอง หากมองไปยังประชาชนที่มาแสดงความยินดีมีความพอใจและสนับสนุน ก็คงต้องใช้แนวนี้ต่อ คือหากโจมตีมาก็จะต้องโจมตีกลับ และครั้งหน้าอาจจะต้องใช้อาวุธที่เข้ม้ข้นกว่านี้ เช่นจรวดขีปนาวุธเหนือเสียง เจาะทะลุแนวป้องกันได้ ซึ่งต้องดูต่อว่าการตอบโต้ของอิหร่านจากนี้จะเป็นอย่างไร นอกเหนือไปจากเครือข่ายพันธมิตรของอิหร่านต่อต้านอิสราเอลในหลายพื้นที่