นับ 1 Soft Power เพื่อรากหญ้า สู่รากแก้ว! “แพทองธาร” นำคณะซอฟต์พาวเวอร์แถลงก้าวสำคัญ เดินหน้า “OFOS” 1 ครอบครัว 1 Soft Power เปิดโอกาสทุกคนสมัครพัฒนาศักยภาพ เรียนรู้ฟรีๆ จาก “มืออาชีพตัวจริง” สร้างรายได้ปีละ 200,000 บาทต่อคน/ปี ตั้งเป้าปีแรก 500,000 คนร่วมโครงการ
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม รวมถึงยังมี นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ , นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึง คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจวันนี้ คือการเปิดเผย “ก้าวสำคัญ” ของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ และพัฒนาศักยภาพ “คนไทย” ผ่านโครงการ OFOS หรือ One Family One Soft Power (1 ครอบครัว 1 Soft Power) เพื่อส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะ “ไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว” ทั้งนี้สามารถเรียนรู้ได้ทั้งทางออนไซต์ และออนไลน์ ไม่จำกัดว่าเป็นใคร จบการศึกษาอะไรมาก่อนหน้า ขอเพียงแค่มีความสนใจ และ มีความสามารถในด้านนั้นๆ ก็สามารถสมัครได้ เพื่อเป้าหมายภายใน 4 ปีข้างหน้า สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ซึ่งนั่นคือการสร้างงานถึง 20 ล้านตำแหน่ง ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีในอนาคต
จากนั้น เวลาประมาณ 15.00 น. น.ส.แพทองธาร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ นพ.สุรพงษ์ ร่วมกันแถลงข่าวหลังจบการประชุม โดยน.ส.แพทองธาร เปิดเผยว่า จากการทำงานมามากกว่า 6 เดือนของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ วันนี้มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะมาแถลงความคืบหน้าของการทำงานซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะยกระดับชีวิตของพี่น้องประชาชน
น.ส.แพทองธาร อธิบายต่อว่า คณะกรรมการฯ มียุทธศาสตร์ 3 ข้อ ในการสร้าง Soft Power การพัฒนาอุตสาหกรรม มีคณะอนุกรรมการทั้ง 11 คณะที่เป็นภาคเอกชนมาพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งออกแบบนโยบาย และแก้ไขกฎหมาย และกำลังตั้งหน่วยงานที่ชื่อ THACCA หรือ Thailand Creative Culture Agency ผ่าน พ.ร.บ. ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังสาธารณะ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าสภาในช่วงมิถุนายนนี้
น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับ 3 ยุทธศาสตร์ ในการสร้าง Soft Power ประด้วย นโยบายต่างประเทศเพื่อสร้าง Soft Power โดยตนได้มีโอกาสไปพบกับหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนของต่างประเทศ จากทั่วทุกมุมโลกจากทุกมหาอำนาจ เพื่อหาความร่วมมือค่ะ รวมถึงเรายังทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ในการส่งออกเพื่อสร้าง Soft Power และ ส่วนที่ 3 คือสิ่งที่อยากมารายงานความคืบหน้าของการทำงาน ในวันนี้ นั่นคือ ส่วนของการพัฒนาศักยภาพพี่น้องคนไทย OFOS นโยบาย หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ หรือ หนึ่งศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์
น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ตั้งแต่การเตรียมนโยบายก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเรามองว่า อุตสาหกรรมสร้าง Soft Power จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับรายได้ ผลักดันให้ประเทศไทย เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง อาชีพที่สร้าง Soft Power ไม่ว่าจะเป็น อาชีพเชฟอาหารไทย อาชีพนักมวยไทย อาชีพครูมวยไทย อาชีพนักตัดเย็บ และอีกหลายอาชีพ จะสามารถยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชน ให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี ซึ่งนี่คือเป้าหมายของเรา เราจะมีการจัดอบรม UpSkill, ReSkill ให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่อยากเรียนรู้ทักษะใหม่ พัฒนาศักยภาพให้ตัวเองเพิ่มเติม โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า วันนี้มีความยินดีที่จะประกาศว่า การอบรม OFOS เราจะเริ่มลงทะเบียนพร้อมกันทุกหลักสูตรต้นเดือนมิถุนายนนี้ สามารถลงทะเบียนได้ทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่ทุกหมูบ้านทั่วประเทศสำหรับปี 2567 เราตั้งเป้าหมายที่จะอบรบออนไลน์รวมกว่า 266,400 คน และจะมีการอบรมออนไซด์ 30,000 คนโดยประมาณ เช่นอุตสาหกรรมอาหารจะมีการอบรวมเชฟอาหารไทย 10,000 คน มวยไทย 6,000 คนโดยประมาณ เป็นต้น
“นี่คือเป้าหมายที่เราต้องการยกระดับชีวิตของคนไทย ใกล้ความเป็นจริงแล้ว พี่น้องหลายคนจะมีชีวิตใหม่ มีโอกาสใหม่ ผ่านการเรียนรู้ศักยภาพใหม่ๆ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านโครงการ หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์” แพทองธาร กล่าวจบในที่สุด
ทั้งนี้ สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจอื่นๆ ในวันนี้ คือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ เพิ่ม อาทิ แต่งตั้ง ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ , ปฐม อินทโรดม อนุกรรมการลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาฯ , วโรรส โรจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.เด็กดีอินเตอร์แอคทีฟ และ เจน จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนามีบุ๊คส์ จำกัด เป็นคณะอนุกรรมการฯ ด้านหนังสือ (เพิ่มเติม) เป็นต้น