วันที่ 19 เม.ย. 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน หรือผู้แทน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา40, 41 และ มาตรา42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา107 หรือไม่

โดยนายธีรยุทธ เห็นว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่บัญญัติว่า "มาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม" ต้องบัญญัติมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเอง โดยไม่เลือกตนเอง ต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงบัญญัติไว้ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 94 ( 7) มาตรา 95 (7) และมาตรา 96 (4) แต่ปรากฏว่ามาตรา 40 (1)(8) การเลือกกันเองระดับอำเภอ, มาตรา41 (1)-(8) การเลือกกันเองระดับจังหวัด และมาตรา 42 (1) ถึง (6) การเลือกกันเองระดับประเทศ กลับไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเองโดยไม่เยกนเองต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอม และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงเป็นการบัญญัติที่อาจทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเฉพาะในขั้นตอน ผู้สมัครเลือกกันเองไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมีผลให้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107

เมื่อถามว่ากระบวนการเลือก สว.ควรชะลอไว้ก่อนรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับที่มาของ สว.ให้แล้วเสร็จก่อนหรือไม่    นายธีรยุทธ กล่าวว่าส่วนตัวได้เร่งทำคำร้องขึ้นเพื่อหวังเป็นกระบวนการป้องกันความเสียหายต่อประเทศ  โดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อมีข้อบกพร่องหรือได้บัญญัติไว้ อาจเข้าข่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ การป้องกันเสียก่อนจะเซฟบ้านเมืองไว้ได้ หากขยับไปอีกสักนิดเพื่อรับคำวินิจฉัยก็คงจะดี

ส่วนเกรงว่าจะเป็นการช่วยยื้อเวลาให้ สว.ชุดนี้อยู่ต่อหรือไม่ นายธีรยุทธ  กล่าวว่าไม่ เนื่องรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าประชาชนหรือปวงชนชาวไทย  มีสิทธิ์เมื่อพบความไม่ชอบธรรม อำนาจอย่างเต็มที่ในการเสนอเรื่องต่อหน่วยงานรัฐ ทุกหน่วยงาน  และหน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงสะท้อนปัญหา ซึ่งตนก็เป็นเพียงคนหนึ่ง ที่เสนอความเห็น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงควรวินิจฉัย 

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า สว.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะอยู่ต่อ  นายธีรยุทธ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเห็นควรจะดำเนินการเลือกไปพลางก่อน หรือจะชะลอไว้ ดังนั้นหากคำร้องของตนมีความน่าเชื่อถือเพียงพอและมีความน่าจะเป็นได้ว่าบทบัญญัติ มาตรา 40 , 41  และ 42  ไมได้กำหนดมาตรการในการป้องกันการสมยอมกันไว้จริง ก็ควรที่จะแก้ไขกฎหมายเสียก่อน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายก็จะเป็นที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพราะการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ สว.ก็อยู่ด้วย หากจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอน สว.ก็ควรต้องอยู่ ตนจึงไมได้คิดว่าจะมาช่วยเพื่อให้ สว.ได้อยู่ทำงานต่อหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าตราบใดที่ยังไม่มี  สว.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ชุดเดิมก็คงต้องรั้งการทำงานไว้อยู่