“ศุภมาส” เผย “QS World University Rankings ปี 67” ประกาศมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกใน 134 สาขาวิชา“สาขาเกษตรศาสตรศาสตร์ป่าไม้” ของ ม.เกษตรศาสตร์ ติดอันดับ 62 ของโลก

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า Quacquarelli Symonds (QS) Limited ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดอันดับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ได้ประกาศผลการจัดอันดับสาขาวิชาของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลก “QS World University Rankings by Subject ประจำปี 2567” ปรากฎว่ามหาวิทยาลัยของประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับในสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก ถึง 134 สาขาวิชา หรือ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้ 110 สาขาวิชา ถึงจำนวน 24 สาขาวิชา ที่สำคัญ มีสาขาวิชาที่สามารถขึ้นไปติดถึงอันดับ 62 ของโลกนั่น ก็คือ สาขาเกษตรศาสตร์และป่าไม้ (Agriculture & Forestry) ของ ม.เกษตรศาสตร์

รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยไทยอีกหลายสถาบันที่มีสาขาวิชาที่ติดอันดับเป็น 1 ใน 100 ของโลกหรือ TOP 100 ของโลก ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับใน 5 สาขาวิชา ดังนี้ ติดอันดับ 51-70 ในสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์-เหมืองแร่ (Engineering - Mineral & Mining) ติดอันดับ 51-100 ในสาขาวิชาด้านศิลปะการแสดง (Performing Arts) ติดอันดับ 51-100 ในสาขาวิชาด้านวิศวกรรมปิโตรเลี่ยม (Engineering-Petroleum) ติดอันดับ 51-100 ในสาขาวิชาด้านทันตกรรม (Dentistry) และติดอันดับ 51-100 ในสาขาวิชาด้านพัฒนศึกษา (Development Studies) ม.มหิดล ติดอันดับ 51-100 ในสาขาวิชาด้านศิลปะและการแสดง (Performing Arts) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ติดอันดับ 51-100 ในสาขาวิชาด้านพัฒนศึกษา (Development Studies)

“จะเห็นได้ว่าสาขาวิชาที่ติดอันดับโลกในแต่ละสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขี้น เช่น จุฬาฯ ในปี 2566 ติดอันดับ 39 สาขาวิชา ขยับขึ้นเป็น 43 สาขาวิชาในปี 2567 ม.มหิดล ปี 2566 ติดอันดับ 18 สาขาวิชา และปี 2567 ติด 22 สาขาวิชา ม.เชียงใหม่ ปี 2566 ติดอันดับ 12 สาขาวิชาและปี 2567 ติดอันดับ 19 สาขาวิชา ม.เกษตรศาสตร์ ปี 2566 ติดอันดับ 9 สาขาวิชา แต่ปี 2567 ขยับขึ้นมาเป็น 13 สาขาวิชา เป็นต้น” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า

“สำหรับการจัดอันดับของ QS World University Rankings ในปี 2567 นั้น จะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) การจ้างงาน และความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผลงานวิจัยและชื่อเสียงทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทยในเวทีระดับโลก และจากสาขาวิชาที่ติดอันดับโลกเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา ก็แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยของประเทศไทยมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่ที่นักศึกษาและประเทศไทยนั่นเอง”