มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งเตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตัวลดแผลกดทับ ‘สูงวัยป่วยติดเตียง’  2 ชุมชนนำร่อง ตำบลบ้านโต้น และตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เตรียมอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น รับเทรนด์สังคมสูงวัยในไทยพุ่ง 13 ล้านคน คาดผู้ป่วยติดเตียงมี 1.3% หรือ 1.7 แสนคน เตรียมจัดตั้งสู่วิสาหกิจชุมชน ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผู้ดูแล และ สร้างงาน สร้างรายได้เข้าชุมชน

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะใน จังหวัดขอนแก่น ผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนา "โครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน" ที่ร่วมกันระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) ที่มีความตั้งใจให้ผู้ป่วยในพื้นที่นำร่องใน 2 ชุมชน ได้แก่ ตำบลบ้านโต้นและตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ได้มีเตียงที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานสามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยและลดการเกิดแผลกดทับ อีกทั้งยังช่วยลดภาระผู้ดูแลผู้ป่วย และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับช่างในชุมชน

ทั้งนี้ การพัฒนาเตียงอัจฉริยะได้เข้าสู่เวอร์ชัน 3  โดยเตียงจะใช้วัสดุทำจากไม้และโลหะบางส่วน ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลทำการกดสวิตช์ควบคุมเพื่อให้เตียงทำการพลิกตัว ส่วนงบประมาณในการจัดทำนั้นจะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อเตียง ซึ่งเป็นราคาที่ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

ด้านนายชัยชาญ เพชรสีเขียว ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเตียงในชุมชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสแนะนำผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในชุมชน อายุ 91 ปี และผู้ดูแลถึงการใช้งานของเตียงที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีปุ่มกดให้สามารถลุกนั่ง เอนซ้าย เอียงขวา เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการเคลื่อนไหวร่างกายและช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ โดยที่ไม่เกิดแผลกดทับ

ในส่วนของการต่อยอดเตียงอัจฉริยะไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนนั้น ขณะนี้ทางชุมชนได้รับมอบแบบและวิธีการต่อเตียงมาเป็นที่เรียบร้อยและอยู่ระหว่างการพูดคุยกับช่างไม้ภายในชุมชนที่น่าจะมีจำนวนที่มากพอในการทำงานนี้    อย่างไรก็ดี คงต้องรอความคืบหน้าเพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน หากทุกอย่างเริ่มลงตัว ทั้งแบบที่กำลังปรับให้สอดรับกับการใช้งานมากขึ้น และวัสดุที่นำมาใช้สร้างเตียง ซึ่งยังมีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งไม้เต็ง ไม้เนื้อแข็ง ไม้สนนอก ที่มีน้ำหนักเบาและหาได้ง่าย รวมถึงนำเหล็กมาต่อเป็นเตียงเพื่อให้ถอดประกอบได้ ในส่วนของขนาดเตียงก็ปรับให้สามารถขนย้ายเข้าบ้านของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาเตียงเพื่อผู้สูงวัยที่ป่วยติดเตียง เป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ได้หลายทาง ทั้งในมิติในสังคม และเศรษฐกิจ ในอนาคตหากสามารถต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชนได้จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะวิธีการผลิตที่ง่าย ทักษะช่างไม้ที่มีอยู่ในชุมชนสามารถดำเนินการได้เลยตามแบบและคู่มือการประกอบที่เตรียมจัดทำขึ้น ขณะที่อุปกรณ์มอเตอร์ไฟฟ้าก็หาได้ง่ายจากร้านค้าชุมชน ถ้าเป็นการผลิตในปริมาณที่มากขึ้นในอนาคตจะยิ่งเป็นการลดต้นทุนลงมาอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเตียง ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเตียงในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย นอกจากในมิติของการสร้างงานและสร้างรายได้เข้าชุมชนแล้ว ส่วนของคุณภาพชีวิตและการดูแลผู้ป่วยก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

รศ.ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุตร คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทักษะของคนดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่นการทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย การรับประทานอาหารที่มีทั้งผู้ป่วยพอทานเองได้ และการให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถนั่งได้ ทำให้ต้องนอนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงจึงมีความสำคัญมาก เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนของข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า มีความสำคัญ หากการพัฒนาเตียงที่มีฟังก์ชันเปลี่ยนท่าทาง เคลื่อนไหวผู้ป่วยได้จะช่วยให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายไม่ติดล็อคและทำให้เกิดการผิดรูปขึ้นได้ นอกจากดูแลด้านร่างกายแล้ว ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วย และดูแลจิตใจด้วยการให้กำลังใจและให้ความหวังในการใช้ชีวิต  โดยคณะฯ มีหลักสูตรอบรม 70 ชั่วโมง แบ่งเป็นทฤษฎี 40 ชั่วโมง และลงมือปฏิบัติอีก30 ชั่วโมง รับรองโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ทำโดย Caregiver และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และญาติผู้ป่วย

ขณะที่ นายอานนท์ ดิษฐเนตร เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญการงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโต้น จังหวัดขอนแก่น (รพ.สต.บ้านโต้น) กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ซึ่งคนดูแลหลักจะเป็นญาติ เนื่องจากคนในชุมชนไม่มีกำลังมากพอสำหรับการจัดหาว่าจ้างผู้ดูแลภายนอก โดยแต่ละวันญาติจะช่วยผู้ป่วยอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย และทำความสะอาดแผลก่อนที่ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าไปติดตามอาการ ตรวจร่างกาย และติดตามความคืบหน้าของอาการว่าเป็นอย่างไร รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่

ที่ผ่านมา ทางชุมชนได้รับมอบเตียงอัจฉริยะจากทาง ม.ขอนแก่น ให้ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงทดลองใช้งาน ซึ่งก็พบว่า เตียงที่สามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ช่วยลดการเกิดแผลกดทับได้ ทำให้คนดูแลมีเวลาไปทำอย่างอื่นได้ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เห็นว่าควรการปรับในบางส่วน เช่น ขนาดเตียง ความสูงของเตียง ถ้าสูงเกินไปจะไม่สะดวกนักสำหรับผู้ดูแล รวมถึงความแข็งแรงของเตียง และการเคลื่อนย้ายเตียงด้วยการติดล้อ เป็นต้น     

ทั้งนี้ ข้อมูลจากหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ย 48,000-55,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อคนต่อเดือน การพัฒนาเตียงอัจฉริยะ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเตียงให้ชุมชนสามารถผลิตใช้งานเองและนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน และอนาคตหากสามารถส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลให้ดีขึ้นด้วย