นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) เผยคืบหน้าขั้นตอนจัดทำร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และภาคส่วนต่าง ๆ พบว่า ข้อสงสัยและความกังวลส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เรื่องเกณฑ์การเปลี่ยนสีผังเมือง การเวนคืนพื้นที่สร้างถนน และการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ (FAR Bonus) ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมาย สามารถชี้นำการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวพ.จึงจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ทั้ง 50 เขต ระหว่างเดือนเมษายน ถึง สิงหาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกำหนดแนวทางในการปรับปรุงข้อกำหนด และเสนอแนะมาตรการทางผังเมืองอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฯ
ล่าสุด จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประจำเดือน เมษายน โดยกำหนดลงพื้นที่ 9 เขตแรก ดังนี้
1. เขตบางกอกน้อย วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ห้องสุพรรณหงส์ ชั้น 3 อาคารเอ (ตึกด้านหน้า) สำนักงานเขตบางกอกน้อย 2. เขตพญาไท วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเขตพญาไท 3. เขตดุสิต วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ห้องประชุมใหญ่ชั้น 4 อาคารราชวัตร สำนักงานเขตดุสิต 4. เขตบึงกุ่ม วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานเขตบึงกุ่ม 5. เขตหนองจอก วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 ห้องประชุมศาลาประชาคมเขตหนองจอก 6. เขตบางกอกใหญ่ วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 ห้องประชุมอรุณอมรินทร์ ชั้น 5 สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ 7. เขตบางนา วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2567 ห้องประชุมบางนาภิรมย์ สำนักงานเขตบางนา 8. เขตคลองสามวา วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2567 ห้องประชุมโสณมัย 1 ชั้น 2 สำนักงานเขตคลองสามวา 9. เขตสะพานสูง วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2567 ห้องประชุมรามคำแหง ขั้น 2 สำนักงานเขตสะพานสูง
สำหรับขั้นตอนการจัดทำร่างผังเมืองดังกล่าว ดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ 18 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. กรุงเทพมหานครได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ผังเมืองให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม 2. จัดเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านกายภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3. วางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 4. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม 5. ประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน 6. ประมวลผลความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวม 7. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม 8. กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อร่าง ผังเมืองรวม
9. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดให้ความเห็นชอบต่อ ร่างผังเมืองรวม 10. ปิดประกาศ 90 วัน และให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถ ยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดของผังเมืองรวม 11. รวบรวมคำร้อง และจัดทำความเห็นประกอบคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 12. คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 13. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 14. กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ความเห็นต่อการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสีย 15. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดแจ้งผลการพิจารณาคำร้องให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ 16. แก้ไขปรับปรุงร่างผังเมืองรวมตามมติคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด 17. ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวม และ 18. ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับ ผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษา
ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนที่ 5 ประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งที่สุดแล้ว จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.ในขั้นตอนที่ 17 ก่อนประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับ ผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษาต่อไป