บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า เป็นวิกฤติของชาติ หรือวาระแห่งชาติแน่นอน แต่ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า ต้นทางแห่งปัญหาที่แท้จริงของฝุ่นพิษหรือมลพิษ PM2.5 คืออะไรกันแน่ คงต้องมาทบทวนเรื่องเก่าๆ กันดูสักนิด เพราะว่ามันเป็นปัญหาระหว่างประเทศไปแล้ว จำไม่ได้ว่ารัฐเริ่มตระหนักถึงปัญหา PM2.5 มาตั้งแต่เมื่อใดแน่ เป็นวาระเร่งด่วน ในช่วงการปฏิรูปประเทศ สปช.และ สปท.(คสช.) ในปี 2557-2559 หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบวาระเร่งด่วนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ (Quick Win) ไม่มีวาระเรื่องฝุ่น PM2.5 แต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหา PM2.5 เป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2562 ตาม “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น จีนเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่เรียกว่า “2013-2017 Clean Air Action Plan” (ปี พ.ศ.2556-2560)
มท.และ ทส.ได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพเรื่องการจัดการขยะและไฟป่า
ย้อนไปดูเรื่องเก่าพบว่า ก่อนหน้า คสช.ได้มีการศึกษาและมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับปัญหาการจัดการขยะชุมชน (Municipal Solid Waste) ซึ่งในสมัย คสช.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งในที่สุดมีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 และเกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน สืบเนื่องมาจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จึงได้มี “แผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง พ.ศ.2547-2551” (Open Burning Control Plan of Implementation) โดย คณะอนุกรรมการกำกับแผนงานและมาตรการในการรองรับนโยบายการห้ามเผาในที่โล่งภายใต้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง ปี 2550-2554 (National Master Plan for Open Burning Control) โดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฏว่าสมัย คสช.มีมติ ครม.เมื่อ 17 มีนาคม 2558 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่ง กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ศอ.ปกป.ภาค) ตามคำสั่งกองทัพภาคที่ 3 ที่ 1043/2560 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560 อันเป็นที่เข้าใจกันว่ามีกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพประสานงานเชิงบูรณาการ
ย้อนดูคดีปกครองสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับฝุ่น
ย้อนมาดูคดีต่างๆ ที่ประชาชนและองค์กรเอกชน (NGO) ได้ร่วมกันฟ้องรัฐใน “คดีฝุ่น” ที่มีอยู่หลายคดี ซึ่งผลจากการฟ้องคดีเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเกณฑ์มาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้เป็นไปตามมาตรฐานอนามัยโลก (WHO) เพราะแต่เดิมนั้น ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ไทยยังสูงเกินไปและสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเกือบ 5 เท่า คือเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 มีประกาศ กก.วล. ปรับปรุงเปลี่ยนค่ามาตรฐาน PM2.5(ใหม่) ใช้วิธีตรวจวัดอ้างอิง ด้วยวิธีกราวิเมตริก (1) เดิม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (2) เดิม ค่าเฉลี่ยราย 1 ปี ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
คดีส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐจะเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น แต่หน่วยงานของรัฐก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นไว้ ทำให้หลายคดีที่ประชาชนเป็นผู้ชนะคดีในศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่มีคดีใดที่ถึงที่สุด เพราะต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคดีจึงล่าช้า เช่น คดีศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขแดงที่ 1/2564 (8 เมษายน 2564) ซึ่งยื่นคำฟ้องออนไลน์ขอให้ศาลพิจารณาด่วน ศาลชั้นต้นใช้เวลาพิจารณาเพียง 45 วัน ให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี โดยศาลชั้นต้นสั่งให้ กก.วล.ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ศาลสูง
คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2567 (19 มกราคม 2567) “คดีคืนปอดให้ประชาชนกรณีแก้ฝุ่นล่าช้า” โดยกลุ่มชาวบ้านและนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวม 10 ราย ฟ้องว่านายกรัฐมนตรี ที่ 1 และ กก.วล. ที่ 2 ข้อหาละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดฯ ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี โดยศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ฝ่ายรัฐก็ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมี “คดีฟ้องทะลุฝุ่น” ที่เครือข่ายประชาชนฟ้องรวม 3 องค์กร ยื่นฟ้องบอร์ด กก.วล., ทส. และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ให้เครือข่ายประชาชนเป็นผู้ชนะคดี คดีนี้มีคำขอท้ายฟ้องรวม 4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ คำขอให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสารพิษ (PRTR : Pollutant Release and Transfer Register) ด้วย
ซึ่งแม้บางคดีศาลชั้นต้นจะยกฟ้องคดีก็มี เช่น กรณีชาวบ้านฟ้องขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ออกประกาศเขตภัยพิบัติเนื่องจากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานที่กำหนด แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเนื่องจาก ในขณะยื่นฟ้องนั้นค่าฝุ่น AQI (Air Quality Index : ดัชนีคุณภาพอากาศ) ณ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ยังมีค่าไม่สูงกว่า 100 ที่จะจัดเป็นระดับที่มีผลต่อสุขภาพ กล่าวคือยังมีค่าที่ไม่เกินมาตรฐานที่มีผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เป็นต้น
การแก้ไขด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ล่าช้า
การยื่นอุทธรณ์คดีปกครองของฝ่ายรัฐ ทำให้มองว่ารัฐบาลพยายามดึงเรื่องให้ช้าลง อาจเป็นเพราะว่ากำลังรอ “ร่างกฎหมายอากาศสะอาด” ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ปัจจุบันรอการพิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็น พ.ร.บ. ซึ่งหลักการ PRTR นี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีกลุ่มประชาชนล่ารายชื่อได้ 12,165 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมาย PRTR ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับที่มีหลักการ PRTR ถูกปรับตกไป เนื่องจากมีการวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่ต้องมีคำรับรองหรือเสนอโดยนายกรัฐมนตรี
มีข้อสังเกตว่า มาตรฐานฝุ่น PM2.5 เกณฑ์อนามัยโลกที่ 37 มคก./ลบ.ม. แต่ รัฐบาลประกาศที่อัตรามาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. ที่ไม่รู้ว่าไปเอาค่า 37.5 นี้มาจากไหน มองได้ว่าเป็นการเลี่ยงบาลีคดีที่ประชาชนฟ้องให้ออกประกาศ โดยใช้เกณฑ์ที่ 37 มคก./ลบ.ม. แต่รัฐบาลประกาศที่ 37.5 มคก./ลบ.ม. ก็ถือว่ารัฐได้ดำเนินการแล้ว อันเป็นผลให้การพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานฝุ่นนี้ของศาลปกครองขาดการพิจารณาไป เพราะในคำฟ้องยังมีคำขออื่นๆ อีก ซึ่งเป็นโอกาสให้ฝ่ายรัฐได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองต่อไป เป็นการยืดเวลาออกไปได้ เป็นต้น อาจมีผู้มองว่า รัฐพยายามแถสุดๆ เพราะคดีเรื่องฝุ่นนี้มีฟ้องคดีกันมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเรื่องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่นนี้มีประชาชนได้ร้อง ป.ป.ช. ว่านายกรัฐมนตรีละเว้นฯ โดยมี เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ประมาณสิบกว่าคนได้มาสอบสวนผู้ร้องที่บ้าน ใช้เวลาสอบปากคำรวดเร็วประมาณ 3 ชม. เป็นการไต่สวนที่ทำกันอย่างง่ายๆ แต่ ปปช. ได้ยกคำร้อง เพราะรัฐบาลมีประกาศมาตรฐานแล้ว (ประกาศ 8 มกราคม 2565) แม้ค่ามาตรฐานที่ประกาศจะต่างกัน 0.5 แต่ก็ถือว่านายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการแล้ว เพราะตัวเลขค่ามาตรฐานที่รัฐบาลประกาศมีค่าใกล้เคียงมาตรฐานโลก จึงถือว่านายกรัฐมนตรีไม่ผิด อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกว่า ในคดีเอกชนฟ้องรัฐเรื่องฝุ่น PM2.5 มีอยู่หลายกลุ่มนั้น ก็จะมีคำขอท้ายคำฟ้องที่วนๆ เหมือนๆ กัน ราวกับว่าลอกล้อคำฟ้องกัน ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อาจเป็นเพราะหลายคดีที่เอกชนฟ้องจะทำแบบลองผิดลองถูก จนเจอมาตรฐาน มาตรการในการจัดทำคำฟ้องที่ดีขึ้น ถูกต้องขึ้นในอำนาจของศาลปกครองก็ได้
ข้อบกพร่องของร่างกฎหมายอากาศสะอาด
อาจจะมีบ้างในเชิงลึกที่ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดโดยผู้รู้ ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแย้งว่า ร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับที่รัฐโดยสภาได้รับหลักการนั้น ไม่มีความแตกต่างจากกฎหมายเดิม คือ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เช่นในเรื่องการจัดการปัญหา, องค์กรที่จัดตั้ง, การมีส่วนร่วมของประชาชน, ไม่เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเรียกร้องได้ง่าย, การทำแผนยังอยู่หน่วยงานรัฐเป็นหลักไม่มีช่องทางให้ทำประชาคมหรือประชาวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบัน แผนการแก้ไขปัญหาไฟป่าที่ให้ ทส.เป็นเจ้าภาพนั้น ก็ได้บูรณาการร่วมกับ กอ.รมน. และ จังหวัด โดยมีกองทัพภาคที่ 3 เป็นศูนย์กลาง เพราะมองว่า กอ.รมน. และ กองทัพภาค เป็นหน่วยงานความมั่นคงและทหาร ที่ไม่มีหน้าที่โดยตรง และ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานอำนาจซ้อนกัน เป็นองค์กรซ้อนรัฐที่ไม่มีตัวเจ้าหน้าที่ แต่เงินงบเยอะ ทำให้ รัฐเปลืองงบ และ ทำงานซ้ำซ้อนกัน กอ.รมน.ควรยุบไป หรือไม่ทำหน้าที่เช่นนี้ นอกจากนี้ตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดควันข้ามระหว่างประเทศ คือ การใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเมียนมาถึง 93% มากที่สุด โดยบริษัทที่น่าจะมีบทบาทเกี่ยวข้องเช่น บริษัท ซีพี ซึ่งรัฐบาลไทยควบคุมได้เฉพาะในพื้นที่ แต่ฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถควบคุมได้ การเผาป่า ไฟป่า ฝั่งไทยพอควบคุมได้ แต่ฝั่งต่างประเทศควบคุมไม่ได้เลย เพราะต่างเผาตามใจ รัฐเพื่อนบ้านไม่ใส่ใจควบคุม มีผู้เคยเสนอให้รัฐเก็บภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น โดยรวมร่างกฎหมายอากาศฉบับนี้จึงมีผู้มองว่า ไม่ต่างจากกฎหมายของเดิม (กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ต่างกันเพียงแค่ชื่อ
ตามข่าวเมื่อ 13 ธันวาคม 2566 รัฐบาลได้ตั้ง “คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ” แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมทำงานแบบ Quick Win ระหว่างรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดผ่านสภาฯ เพื่อให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ค่า AQI สูงระดับนี้ พร้อมพูดคุยกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) เพื่อยกระดับการพูดคุยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน รวมถึงพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี ที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และด้วยหวังให้สมกับฉายาที่ตั้งไว้ว่า "กฎหมายอากาศสะอาด คือ โคตรกฎหมายในการแก้ไขปัญหาเรื่องอากาศ"
ต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้
ณัฐกร วิทิตานนท์ (2566) เขียนถึงอำนาจอันจำกัดของผู้ว่าฯ และส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ และแม้ในช่วงเลือกตั้ง ทุกพรรคจะพูดว่าการกระจายอำนาจอาจช่วยแก้สถานการณ์นี้ให้ดีขึ้นได้ แต่ณัฐกรมองว่าอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาฝุ่นควันได้ทั้งหมด เพราะต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ PM2.5 ไม่ได้ ลองมาดูคำเฉลยกันว่าเป็นเพราะอะไร
ความท้าทายในการแก้ฝุ่นควัน รัฐออก “11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM2.5 ปี 67” มีมาตรการแต่ปรากฏว่าไร้แผน พบว่ารัฐยังคงวางแนวนโยบายเดิมคือลดจำนวนจุดความร้อนลง นี่เป็นสมมติฐานว่า ทำไม การแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษของรัฐจึงล้มเหลว ด้วยปกติแล้วฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นมาก ในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูแล้ง (มกราคม-มีนาคม) ทั้งนี้เพราะความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบ ประกอบกับปัจจัยอื่น ทำให้เอื้อต่อการเกิดไฟป่าง่าย โดยเฉพาะเขตภาคเหนือที่เป็นที่ราบล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ การสะสมหมอกควันในอากาศจึงรุนแรงกว่าพื้นที่อื่น ต้นตอใหญ่ที่สุดของฝุ่น PM2.5 คือการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร และไฟไหม้ป่า เหตุที่การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยากมาก สาเหตุเพราะด้านระบบการผลิตและพฤติกรรมของคนในเมืองและเกษตรกร ข้อจำกัดและจุดอ่อนของนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ และข้อจำกัดด้านการเมือง เป็นต้น
สรุปความล้มเหลวของรัฐ (TDRI 2566) มาจากข้อจำกัดและจุดอ่อนสำคัญ 3 ด้าน คือ
(1) แนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 แบบภัยพิบัติ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เช่น การตั้งกรรมการในเดือนตุลาคมก่อนมีฝุ่น PM2.5 และสลายตัวเดือนพฤษภาคม ทำให้ขาดความจำสถาบัน ขาดการจัดการและการศึกษาวิเคราะห์แบบต่อเนื่องโดยมืออาชีพ กรณีนี้ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง
(2) ท้องถิ่นขาดเงิน และถูกซ้ำเติมจากกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ แม้ว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณได้ริเริ่มให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดภายใต้โครงสร้างการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2560 มีการกำหนดนโยบายแผนพัฒนาภาคแบบ One Plan ทำงานแบบเครือข่าย มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดผ่านกระบวนการล่างสู่บน (Bottom Up) ก็ตาม
(3) แม้จะมีการจัดการฝุ่น PM2.5 ภายในจังหวัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ ชุมชน และกลุ่มประชาสังคม มีมาตรการป้องกันทั้งในเมืองและชนบท ก็ไม่อาจแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ เพราะฝุ่น PM2.5 ส่วนหนึ่งพัดข้ามมาจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะชายแดนฝั่งพม่าที่ปลูกข้าวโพด ส่วนชายแดนเขมรก็มีการปลูกอ้อยและเผาไร่อ้อย ทำให้ฝุ่น PM2.5 พัดเข้าถึงกรุงเทพฯ
นี่เป็นการเท้าความเล็กๆ ถึงต้นตอปัญหาที่พอจะเป็นแนวทางในการคิดต่อตามแนวคิด “แสวงจุดร่วม (Points-of-parity) สงวนจุดต่าง” ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อไป