ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“เพราะการขนหินก้อนนั้น คือเป้าหมายที่อยู่ในตัวของมันเอง...มันคือการยอมรับตัวเอง ผ่านชะตากรรมอันเป็นที่สุด”
“ส่วนหนึ่งแห่งความคิดของชีวิต..ผมเติบโตมาด้วย “ปรัชญาความไร้สาระ” ที่ “อัลเเบรต์ กามูส์ ได้เคยครุ่นคิด..โดยเฉพาะกับประเด็นที่ว่า.. “ชีวิตไม่มีเหตุผล ไร้ความหมาย”..ซึ่งที่สุดแล้ว..ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2..ความโหดร้ายจากการล้างเผ่าพันธุ์ของ “นาซีฮิตเลอร์”..ก็ทำให้ปัญญาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา..ต่อนัยความคิดที่ว่า..ชีวิตไม่มีความหมาย..มันขาดกฎระเบียบที่สมเหตุผล..แต่คนเราส่วนใหญ่ก็ต่างยากที่จะยอมรับความคิดนี้..ความคิดที่กามูส์เรียกว่า “ความไร้สาระ” ...ก็เลยพากันกระเสือกกระสนและเพียรพยายาม แสวงหาโครงสร้างที่มันมีเหตุผลกับความหมายต่อชีวิต..”
“กามูส์” เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนปี 1913..ที่ประเทศแอลจีเรีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในเวลานั้น...และเพียงปีถัดมาพ่อก็ได้จากโลกนี้ไป..ชีวิตและครอบครัวของเขาต้องประสบความยากลำบากนับแต่นั้น..เขาต้องอาศัยอยู่กับยายและลุงที่พิการในห้องเช่าเล็กๆย่านคนจนพร้อมกับแม่และพี่ชาย..พอโตขึ้นเขาต้องรับจ้างทำงานอย่างหนักเพื่อหารายได้..จนสามารถส่งตัวเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้..แต่ก็ต้องหยุดเรียนเพราะป่วยเป็นวัณโรค...ความจนยากและภาวะเจ็บป่วยของเขาต่อมาได้กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญต่อประพันธกรรมอันทรงค่าของเขา ..
ต่อมา..เขาได้เข้าสู่แวดวงหนังสือพิมพ์ทางการเมืองที่ต่อต้านความเป็นอาณานิคม..และเขาก็ได้เขียนถึงความยากจนอย่างเหลือแสนในแอลจีเรีย..เขาได้ไป ปารีส ฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) และกลายเป็นนักเขียนคนสำคัญในขบวนการต่อต้านนาซีเยอรมัน..โดยได้เป็นบรรณาธิการให้กับหนังสื่อพิมพ์ใต้ดินชื่อ.. “การสู้รบ” (Combat)..ความคิดเกี่ยวกับ “ความไร้สาระ” อันลือเลื่อง (Absurdity) ของเขาได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้..มีเหล่าปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับเขา..
ปี 1940..เขาได้เขียนนวนิยายเรื่องแรก “คนแปลกหน้า”..นวนิยายที่แสดงให้ถึงภาวะแห่งรูปธรรมความคิดตลอดจนปรัชญาว่าด้วยความไร้สาระของเขาอย่างหนักแน่น..เขาเลือกเขียนนวนิยายเรื่องนี้..คู่กันไปกับการเขียนความเรียงเชิงปรัชญาเรื่อง.. “เทพตำนานซีซีฟ”..ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงถึงว่า..ตัวละคร “เมอร์โซต์” ใน “คนแปลกหน้านั้น”..ก็คือรูปธรรมของคนไร้สาระใน “เทพตำนานซีซีฟ” นั่นเอง..
“คนแปลกหน้า”..เป็นเรื่องของ “เมอร์โซต์”...เสมียนหนุ่มชาวแอลจีเรียเชื้อสายฝรั่งเศส..ได้เป็นผู้เล่าขานเรื่องราวของตน..เขาเปิดเรื่องด้วยประโยคคำพูดอมตะอันเป็นที่จดจำและตอกตรึงที่ว่า.. “วันนี้แม่ตาย...หรืออาจจะเมื่อวานผมไม่รู้..แม่ตาย...ฝังพรุ่งนี้..ด้วยความนับถือ/...นั่นไม่บอกอะไร..บางทีอาจเป็นเมื่อวานนี้..”
ทั้งหมดเกิดขึ้น..เมื่อเขาได้รับโทรเลขจากบ้านพักคนชราที่แม่อาศัยอยู่ แจ้งว่าแม่ตาย และจะฝังพรุ่งนี้..ดังนั้น เขาจึงไม่อาจรู้ได้ว่า แม่ตายวันไหน..แต่น้ำสียงของเขากลับเต็มไปด้วยการสื่อถึงความไร้อารมณ์กับความตายของแม่...เมื่อไปถึงงานศพ..เขาไม่ปรารถนาที่จะดูหน้าแม่เป็นครั้งสุดท้าย ไม่ร้องไห้ออกมา/..ครั้นฝังศพเสร็จก็รีบกลับโดยทันที..โดยไม่มีการร่ำลาอาลัย../ระหว่างชีวิตในช่วงนั้น ..เขาได้คบหาเป็นเพื่อนกับคนที่ไม่ทำมาหากินอะไร ประหนึ่งเป็นแมงดาที่น่าเดียดฉันท์..ต่อมา “เมอร์โซต์” ได้ยิงคนอาหรับคนหนึ่ง..เขาฆ่าคนตายโดยที่เขาก็ไม่รู้จักชายคนนั้น..และ ..เขาก็ไม่รูก็เหตุผลแห่งการกระทำของตนเอง จึงต้องถูกจับกุมดำเนินคดีในที่สุด
เขาถูกตัดสินประหารชีวิต ตอนแรก..เขารู้สึกเป็นทุกข์ และได้พยายามหาทางหนีจากเคราะห์กรรมที่ไม่อาจหลีกหนีนั้นได้..เขาตกอยู่ในภวังค์ที่ต้องครุ่นคิดใครมาครวญ..กระทั่ง..ได้สามารถบรรลุสู่การยอมรับ “ความเฉยเมยของโลก” ได้..จนประสบความสงบสันติในตัวเอง...ตามหลักการของ “ปรัชญาไร้สาระ” กามูส์..ได้เน้นย้ำว่า.. “กฎระเบียบทางศีลธรรมนั้นปราศจากพื้นฐานเชิงเหตุผล หรือธรรมชาติ” เพียงแต่ว่า..กามูส์..ก็ไม่ได้เข้าหาโลกด้วยความเฉยเมยทางศีลธรรม.. เขามีความเชื่อว่า .. “การไร้ซึ่งความหมายอันสูงส่งของชีวิตนั้น ไม่ควรต้องพาเราไปสู่ความสิ้นหวัง” ตรงกันข้าม..กามูส์เอง..เป็นนักมนุษย์นิยม..เขามีความรักต่อมนุษย์เสมอ..เขามีศรัทธาในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แม้จะต้องเผชิญกับโลกที่เขาเห็นว่ามันทั้งเย็นชาและเฉยเมย
เหตุนี้..สำหรับกามูส์.. “ชีวิตจึงไม่มีความหมายและขาดกฎระเบียบที่สมเหตุสมผล แต่มนุษย์เราก็ยากที่จะยอมรับในความคิดนี้..และมุ่งเพียรพยามยามที่จะหาความหมายที่ไม่มีอยู่..นั่นคือสิ่งที่กามูส์เรียกว่า “ความไร้สาระ”
กามูส์..เขียน “คนแปลกหน้า”..เพื่อให้คนอ่านคิดถึงความตายและความหมายในการดำรงอยู่ของตน..ผ่านชีวิตของ “เมอร์โซต์” ตัวละครเอกของเรื่องนี้..ที่การใช้ชีวิตของเขารวมทั้งวิถีแห่งทัศนคติ..ดูแปลกต่างจากคนทั่วไป..เราจึงต่างไม่เข้าใจในสิ่งที่เขากระทำ..ในสิ่งที่เขาคิด..เพราะทั้งหมด..มันผิดคาดไปจากสิ่งที่สังคมมุ่งกระทำและคาดหวังให้ทำ..ดั่งนี้เอง..เขาจึงเป็น “คนแปลกหน้า” ในสังคมที่เขาอยู่ และยังแปลกหน้าต่อตัวเอง.. “เพราะเขาเองก็ให้เหตุผลไม่ได้ต่อการกระทำของตน”
“กามูส์”..ได้รับการยกย่องยอมรับอย่างสูง..ในการสร้างงานวรรณกรรมและปรัชญาของเขา..ถือได้ว่าเป็นการสร้างคุณูปการให้แก่วงวรรณกรรมของโลกและประเทศฝรั่งเศส..เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1957/ แต่ในตอนนั้น..ช่างเป็นที่น่าเสียดายที่เขาต้องถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์..เพียงสามปีให้หลัง แม้ชีวิตจะสั้น..แต่ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ไว้ทั้งนวนิยายและความเรียงทางปรัชญา..ก็ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ..
เขาเขียนนวนิยาย “คนแปลกหน้า” คู่กันไปกับการเขียนความเรียงเชิงปรัชญาเรื่อง “เทพตำนานซีซีฟ” ว่ากันว่า..เมอร์โซต์ในคนแปลกหน้า..ก็คือรูปธรรมแห่งคนและความไร้สาระใน “เทพตำนานซีซิฟ” นั่นเอง.. “เทพทำนานซีซีฟ”...คือเรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นด้วยเป้าประสงค์ ที่จะอธิบายถึงข้อตระหนักแห่งแนวคิดของเขา..ในประเด็นเริ่มต้นแห่งคำถามสำคัญที่ว่า.. “คนเราสมควรที่จะฆ่าตัวตายหรือไม่?”..อันเป็นคำถามสำคัญในมิติแห่งปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ในทัศนคติของเขา..
“ปรัชญาที่สำคัญจริงๆ มีเพียงปัญหาเดียว นั่นคือการฆ่าตัวตาย ตลอดจนการตัดสินว่า..ชีวิตมีค่าหรือไม่มีค่าพอที่จะอยู่นั้น..คือการตอบคำถามพื้นฐานทางปรัชญา..ส่วนที่เหลือ..ไม่ว่าโลกจะมีสามมิติหรือไม่..ไม่ว่าจิตใจจะมีสิบหรือสิบสองประเภทล้วนมาทีหลัง..สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการเล่น”
ที่ผ่านมาเรามองว่าการฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุ แต่โดยทั่วไป เหตุที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด..มักไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่สุด..มีอยู่น้อยครั้ง..ที่คนเราฆ่าตัวตายด้วยการไตร่ตรอง..สิ่งที่กระตุ้นวิกฤตนั้นมันเกือบจะควบคุมไม่ได้..คำอธิบายเหล่านี้ต่างก็มีเหตุผล..แต่เราก็ต้องรู้ว่า.. “การฆ่าตัวเองนั้น..เหมือนนวนิยายประโลมโลก ในแง่หนึ่งมันคือการสารภาพ..ว่าเราพ่ายแพ้ต่อชีวิต หรือไม่สามารถเข้าใจมันได้ ..แต่อย่างไรก็ตาม เราก็อย่าไปไกลจนเกินไปนักเลย..ในการเปรียบเทียบทำนองนี้..หันกลับมาใช้ภาษาธรรมดาๆ..ซึ่งก็จะเป็นเพียงการสารภาพว่า.. “มันไม่คุ้มที่จะทนอยู่”..”
แท้จริงเนื้อหาหลักของความเรียงเรื่องนี้..คือความสัมพันธ์ระหว่างความไร้สาระกับการฆ่าตัวตาย ภายในขอบเขตอันชัดเจนที่การฆ่าตัวตายอาจเป็นทางออกสำคัญสำหรับความไร้สาระ “ผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้น ปรากฏว่ามักจะมั่นใจในความหมายของชีวิต ความขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลา จนเราอาจกล่าวได้ว่า..ความขัดแย้งยังไม่เคยปรากฏชัดเท่าประเด็นนี้ ..ที่จะทำให้ตรรกะแห่งความตรงกันข้ามดูจะกลายเป็นสิ่งอันพึงปรารถนาไป..มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะเปรียบเทียบทฤษฎีทางปรัชญากับพฤติกรรมของผู้ที่สนับสนุนมัน ..แต่ก็ต้องกล่าวว่า..ในหมู่นักคิดผู้ปฏิเสธความหมายของชีวิตนั้น..ไม่มีใครยอมรับตรรกะของตนจนถึงขั้นปฏิเสธชีวิต”
ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้..คือเสี้ยวสาระสำคัญจากหนังสือ... “อัลเเบรต์ กามูส์:ความคิด วรรณกรรม และปรัชญาแห่งความไร้สาระ” ..ที่รวมงานเขียนสำคัญของ “กามูส์” ...ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยนักแปลยอดฝีมือ “วิภาดา กิตติโกวิท” รวมทั้งบทวิพากษ์งานเขียนเรื่องต่างๆ..โดยปราชญ์คนสำคัญของแผ่นดิน.. “ท่านพระ ไพศาล วิสาโล”/นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภายใต้ศรัทธาที่ว่า..
มนุษย์คนหนึ่ง จะ “มีอยู่” ..ได้..ย่อมต้องใช้ความเข้มแข็งและกล้าหาญอย่างมากในการแสดงให้สังคมเห็น..ว่าเราเป็นใครหรืออะไร และนั่นคือสิ่งที่ตัวละครเอกของกามูส์..ได้แสดงออกอยู่ตลอดเวลา..! ด้วยจำนวนหน้ากว่าหกร้อยหน้า..นั่นคือเนื้อในแห่งจิตวิญญาณของการเขียนและการเขียนที่เราต้องสวมผัสและค้นให้พบรากเหง้าแห่งแก่นแท้ของมัน..ให้จงได้...เนื่องเพราะ ..
“ที่สุดแล้ว..ชีวิตของมนุษย์ที่แท้..ล้วนต่างดำรงอยู่อย่างทายท้า..กับจิตวิญญาณของตนเอง ตลอดจนกรอบเกณฑ์ที่รัดรึงรอบข้าง เป็นภาวะแห่งการมีและการเป็นที่สุดโต่งต่อการตัดสินใจ..ผ่านขบวนการแห่งความที่มีเหตุผล ..และความไร้เหตุผลอันถาวร..นั่นคือ ภาพที่มนุษย์ต่างกระทำผ่านสถานะและบทบาทเฉพาะของตัวตน ..จนกลายเป็นความซ้ำซาก..กระทั่งก่อเกิดเป็นความไร้สาระอันสลับซับซ้อน ..และยากต่อการตีความในชีวิตไป ...ในที่สุด..!”