จั่วหัวมาข้างต้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “มาตรฐานของโทรศัพท์มือถือ” หรือ “ระบบสื่อสารโทรคมนาคม” รุ่น 4 แม้แต่น้อย

แต่ทว่า หมายถึง “รุ่น” ของ “ผู้นำ” ใน “ประเทศสิงคโปร์”

นั่นคือ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” หรือ “ผู้นำ” ของ “ประเทศสิงคโปร์” ใน “รุ่นที่ 4 หรือ “4จี” (4G : Fourth-Generation) ซึ่งเป็นรุ่นถัดไป นั่นเอง

สำหรับ “นายลอว์เรนซ์ หว่อง” ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” คนใหม่ของสิงคโปร์ ซึ่งตามการประกาศของ “นายลี เซียนลุง” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ ระบุว่า จะมีขึ้นใน “วันที่ 15 พฤษภาคม” หรือเดือนหน้านี้ อันเป็นวันเดียวกับนายลี เซียนลุง ประกาศว่า จะเป็นวันที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ แล้วให้นายลอว์เรนซ์ หว่อง มารับตำแหน่งสืบทอดต่อไป ซึ่งจะมีการประกอบพิธีสาบนตนรับตำแหน่งในวันเดียวกันนั้น

ทั้งนี้ หลังผ่านพ้นสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้นายลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นผู้นำรุ่นที่ 4 หรือ 4 จี ของประเทศสิงคโปร์ อันเป็นรุ่นที่ถัดจากรุ่นก่อนๆ ได้แก่

รุ่นที่ 1 คือ “นายลี กวนยู” นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ และถูกยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งประเทศสิงคโปร์” ในฐานะผู้สถาปนาประเทศแห่งนี้ ด้วยการแยกประเทศออกจากมาเลเซีย เมื่อปี 1965 (พ.ศ. 2508) หลังจากนั้น นายลี กวนยู ก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มาโดยตลอดจนถึงปี 1990 (พ.ศ. 2533) อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น นายลี กวนยู ก็นำพรรคกิจประชาชน หรือพีเอพี (PAP : People's Action Party) ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 1959 (พ.ศ. 2502) ก่อนหน้าที่จะแยกประเทศออกจากมาเลเซีย จนถึงปี 1990 (พ.ศ. 2533) เบ็ดเสร็จรวมแล้ว ก็ 8 ครั้งด้วยกันที่นายลี กวน ยู นำพาพรรคกิจประชาชนคว้าชัยชนะ พร้อมกับที่เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ผู้นำของสิงคโปร์มาโดยตลอดชนิดไร้เทียมทาน จนต้องโบกมืออำลาออกจากตำแหน่งไปเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมชมชอบของปวงประชาชาวสิงคโปร์ที่มีต่อนายลี กวนยู นั้นมากมายขนาดไหน

นายลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาผู้สถาปนาประเทศสิงคโปร์ (Photo : AFP)

เมื่อนายลี กวนยู จะอำลาตำแหน่งไปนั้น ก็แต่ตั้ง “ผู้นำรุ่นที่ 2” มารับไม้ต่อจากเขา นั่นคือ “นายโก๊ะ จ๊กตง” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รุ่นที่ 2 ส่วนตัวของนายลี กวนยู ก็ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีอาวุโส (Senior Minister)” โดยนายโก๊ะ จ๊กตง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรุ่นที่ 2 เป็นเวลา 14 ปี จากปี 1990 (พ.ศ. 2533) มาลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547) ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้แก่ผู้นำรุ่นที่ 3 ซึ่งมิใช่ใครที่ไหนอื่น แต่เป็น “นายลี เซียนลุง” บุตรชายคนโตของ “นายลี กวนยู” บิดาผู้สถาปนาประเทศสิงคโปร์

นายโก๊ะ จ๊กตง นายกรัฐมนตรีรุ่นที่ 2 ของสิงคโปร์ ต่อจากนายลี กวนยู (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่นายลี เซียนลุง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศสิงคโปร์ ก็แต่งตั้งให้นายลี กวนยู บิดาของเขาให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ส่วนนายโก๊ะ จ๊กตง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง

โดยนายลี เซียนลุง รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศต่อจากนายโก๊ะ จ๊กตง เมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547) และประกาศที่จะอำลาตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม เดือนหน้านี้ โดยผู้ที่จะมารับไม้ต่อ เป็นผู้นำรุ่นที่ 4 หรือนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศต่อไปนั้น ก็คือ “นายลอว์เรนซ์ หว่อง” ตามที่นายลี เซียนลุง ประกาศ

กล่าวถึง “นายลอว์เรนซ์ หว่อง” ผู้นี้ ปัจจุบันอายุ 52 ปี เป็นที่คาดหมายกันมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า เป็น “ทายาททางการเมือง” ของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ที่ปัจจุบันอายุ 72 ปีแล้ว

ในความคาดหมายที่จะเป็นทายาททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงข้างต้น ก็มีขึ้นภายหลังจากที่ “นายเฮ็ง สวีเคต” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศถอนตัวจากการเป็นทายาททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงไป เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) ซึ่งนายเฮ็ง สวีเคต อ้างเหตุผลที่ถอนตัวไปนั้นด้วยเรื่องของความเหมาะสม และอายุอานามที่มากแล้ว คือ มีอายุ 60 ปี น่าจะเปิดโอกาสให้คนหนุ่มกว่าเข้ามารับตำแหน่งแทน โดยในขณะนั้นนายลอว์เรนซ์ หว่อง มีอายุเพียง 49 ปีเท่านั้น ถูกยกให้เป็นตัวเก็งที่มีอายุน้อยที่สุด กอปรกับนายลอว์เรนซ์ หว่อง ได้รับความไว้วางใจจากภายในพรรคกิจประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง และมีประวัติทั้งการศึกษา และการบริหาร ตลอดจนผลงานต่างๆ มิใช่น้อย

โดยประวัติทางการศึกษาของนายลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่นายกรัฐมนตรีรุ่นที่ 4 ซึ่งมีเชื้อสายชาวจีนในสิงคโปร์และไหหลำ (บิดาของเขาเป็นจีนไหหลำ ส่วนมารดาเป็นจีนในสิงคโปร์) นั้น เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเฮกส์บอย ที่มารดาของเขาเป็นครูอยู่ที่นั่น ก่อนเรียนจบมัธยมศึกษา และได้ทุนรัฐบาลเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประเทศสหรัฐฯ จนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากนั้นมาจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐฯ เช่นกัน ทั้งนี้ นายลอว์เรนซ์ หว่อง เคยเปิดใจถึงสาเหตุที่ทำให้เลือกไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่สหรัฐฯ เพราะที่นั่น มีนักดนตรีขวัญใจด้านการเล่นกีต้าร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เขาชื่นชอบมาก นั่นเอง ถึงขนาดที่ว่าเขาสามารถเล่นกีต้าร์ระดับมือโซโล่ได้ทั้งในแนวบลูส์ โซล และแนวร็อก กันเลยทีเดียว

ส่วนเส้นทางการเมืองนั้น เริ่มจากการเป็นพนักงานรัฐกิจ จนไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2005 – 2008 (พ.ศ. 2548 – 2551) และในปี 2010 (พ.ศ. 2553) ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สังคม และเยาวชน ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ต่อด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ ระหว่างปี 2012 – 2020 (พ.ศ. 2555 – 2563) ก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2020 กระทั่งการถอนตัวของนายเฮ็ง สวีเคต ก็ทำให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งตำแหน่งนี้เสมือนหนึ่งเป็นธรรมเนียม หรือเส้นทางที่จะนำไปสู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศคนต่อไป ตามที่นายโก๊ะ จ๊กตง และนายลี เซียนลุง ก็เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจนี้มาแล้ว เพื่อสะสมผลงานการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ นั่นเอง

ทางด้าน บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การประกาศว่าจะให้นายลอว์เรนซ์ หว่อง มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนมห่ข้างต้น ก็เสมือนกับเป็นการกรุยทางรันเวย์ของนายลี เซียนลุง เพื่อให้ทายาททางการเมืองของเขารายนี้ สร้างคะแนนนิยมให้เพิ่มขึ้นหลังจากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาแล้วในการรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของสิงคโปร์ ที่นายหว่อง และทีมงานของเขาจัดการในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับมือกับการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ในอนาคตอันใกล้ ในการเรียกความศรัทธาของพรรคกิจประชาชนให้กลับคืนมาหลังเสียที่นั่ง ส.ส.ไปในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ให้แก่พรรคฝ่ายค้านจนสร้างความวิตกให้เหล่าผู้บริหารพรรคกิจประชาชนกันพอสมควร