นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง (บก.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาลระหว่างกรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)ว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้กำหนดมาตรการและพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง อาทิ การพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) และระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New GFMIS Thai) เพื่อยกระดับการดำเนินงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริตผ่านการดำเนินงานโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative : CoST) อีกด้วย
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินงานของภาครัฐให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส รวมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่อาจเกิดขึ้น ทั้งสองหน่วยงานจึงได้ตกลงที่จะเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งได้แก่ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากระบบ e-GP และข้อมูลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐจากระบบ New GFMIS Thai รวมถึงรายงานผลการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์ในโครงการ IP และรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลโครงการ CoST ที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตพิจารณาแล้วพบว่า หน่วยงานของรัฐหรือผู้ประกอบการในโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้จริง เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
"การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลางและสำนักงาน ป.ป.ช. ในครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงช่วยยกระดับความโปร่งใสของภาครัฐผ่านดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันหรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ของไทยให้มีอันดับที่ดีขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่อไป"