วันที่ 18 เม.ย.67 นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) สมุทรสาคร พร้อมด้วย นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับมอบหมายจากนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้นำคณะเจ้าหน้าที่จาก ทสจ.สมุทรสาคร ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์วิจัยและพัฒนาทะเลประมงทะเลสมุทรสาคร,ศูนย์วิจัยและพัฒนาทะเลประมงทะเลสมุทรปราการ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ (ปลา) ในคลอง ซึ่งอยู่ใกล้กับบริษัท เจ แอนด์ บี เม็ททอล จำกัด หมู่ที่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ที่พบการกักเก็บกากแร่แคดเมียมภายในโรงงาน โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวฯ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด กอ.รมน.สมุทรสาคร ปลัดอำเภอเมืองสมุทรสาคร และ กำนัน อบต.บางน้ำจืด ร่วมด้วย ซึ่งก็ได้เริ่มจากที่บริเวณต้นคลองหลวงเดิมบาง (หน้าวัดโพธิ์แจ้) ตำบลบางน้ำจืดฯ มีทั้งการจับปลาในคลองไปแช่แข็ง เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจหาสารแคดเมียม พร้อมกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำตรงบริเวณดังกล่าว โดยพบว่ามีค่าออกซิเจนต่ำ แต่ค่าความเป็นกรด – ด่าง อยู่ในเกณฑ์ปกติ จากนั้นจึงได้ย้ายจุดมาที่บริเวณกลางคลอง ซึ่งอยู่ตรงปากซอยกองพนันพล และปลายคลอง บริเวณทางเข้าวัดคอกกระบือ (ริมถนนเอกชัย – บางบอน) เชื่อมต่อกับคลองสี่วาพาสวัสดิ์  นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เป้าหมายเป็นคลองบางน้ำจืด บริเวณหน้าสนามกีฬา อบต.บางน้ำจืด (ต้นคลอง) และ คลองบางน้ำจืด ก่อนไหลสู่คลองหลวงเดิมบาง (ปลายคลอง) ด้วย

นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำและตรวจวัดคุณภาพน้ำ เพื่อหาสารแคดเมียมที่อาจจะมีการปนเปื้อนในน้ำและสิ่งแวดล้อมได้นั้น ก็เนื่องมาจากการตรวจพบโรงงานแห่งหนึ่งในซอยกองพนันพลมีการกักเก็บกากแร่แคดเมียมและกากสังกะสี ดังนั้นก่อนหน้านี้ทางกรมควบคุมมลพิษ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้มีการเก็บตัวอย่างทั้งฝุ่นละอองในอากาศ น้ำ และสิ่งแวดล้อมไปตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นผลที่ออกมานั้น ก็ไม่พบสารแคดเมียมทั้งในน้ำ และสิ่งแวดล้อมภายนอกโรงงาน คงมีแต่ที่บริเวณด้านหน้าโรงงานเท่านั้น 

นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณรอบโรงงานดังกล่าว ทางกรมควบคุมมลพิษ จึงได้ร่วมกับ กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาลงพื้นที่อีกครั้งในวันนี้ (18 เม.ย.) เพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำจากในคลองที่ไหลผ่านโรงงานไปตรวจสอบหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมว่ามีอยู่ในเนื้อปลาหรือไม่ โดยจะนำปลาที่จับได้ทั้งตรงบริเวณต้นคลอง กลางคลอง และปลายคลอง ไปเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยฯ เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจน คาดว่าภายใน 3 – 4 วันนี้ ผลการตรวจชิ้นเนื้อปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ในคลองจะออกมา ก็จะเป็นการยืนยันกับชาวบ้านได้ว่า มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียมจากโรงงานดังกล่าวออกมาสู่สัตว์น้ำในลำคลองหรือไม่ รวมถึงยังได้นำน้ำไปตรวจวัดหาการปนเปื้อนใหม่อีกรอบด้วยเช่นเดียวกัน