สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
แม้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นอกมั่นใจสามารถคิ้กออฟโครงการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังได้ข้อยุติเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะดึงมาจาก 3 ทาง ประกอบด้วย 1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท โดยได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว 2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568 และ3) และ 3)การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ กรณีวงเงินไม่เพียงพอ …*…
ทว่า ในทางปฏิบัติ เรื่องการใช้เงินจากธ.ก.ส.อาจไม่สามารถเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ เพราะมีคำถามจากคนในธ.ก.ส.เอง คือสหภาพแรงงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธกส.) ว่า “การขอกู้เงินดังกล่าวของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พ.ศ.2519 สามารถกระทำได้หรือไม่” …*…
โดย สร.ธกส.เรียกร้องให้มีการส่งเรื่องให้หน่วยงานกำกับดูแล ธ.ก.ส. ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส. ไปดำเนินการโครงการดิจิตอลวอลเล็ตได้หรือไม่ …*…
อีกทั้งส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.ไปดำเนินการโครงการดิจิตอลวอลเล็ตได้หรือไม่ …*…
พร้อมกับจี้ผู้บริหารธ.ก.ส.เร่งสื่อสารทำความเข้าใจ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ว่าในปัจจุบัน ธ.ก.ส.ยังไม่มีการดำเนินการใดๆกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ดิจิตอลเนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นจากส่วนงานกำกับดูแลตามข้อ 1 และ 2 …*…
“สร.ธกส. ยืนยันว่าการดำเนินการใดๆของ ธ.ก.ส.เกี่ยวกับโครงการดิจิตอล วอลเล็ตจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ขององค์กร และ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าผู้ฝากเงินกับ ธ.ก.ส.” ข้อความบางช่วงบางตอนจากแถลงการณ์ของสร. ธกส. …*…
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มีมุมมองน่าสนใจในเรื่องเดียวกันนี้จากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “กู้ ธกส.นั้น ICU. แต่ถ้ายืม จองศาลาได้เลย สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา จะดำเนินการกับแหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต 172,300 ล้านบาท คงไม่ใช่แค่กู้แล้วใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย แต่อาจไปไกลถึงขั้นยืมและทยอยคืนในโอกาสที่เหมาะสมโดยไม่มีดอกเบี้ย จับจากน้ำเสียงของ รมช.ค ลังที่พูดว่าเป็นการยืม จับจากคำตอบของปลัดกระทรวงคลังที่ไม่ตอบเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าดอกเบี้ยเท่าไร ใช้คืนเมื่อใด แค่กู้ก็เหนื่อยแล้ว เพราะผิดวัตถุประสงค์ของ ธกส. แต่หากถึงขั้น “ยืม” ใช้คืนแบบไม่มีดอกเบี้ย นั้นจองศาลาวัดได้เลย เพราะ มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เขียนไว้ชัดว่า “โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น การเอาเงินออกไปใช้ย่อมสูญเสียโอกาสให้กู้ โดยอัตราดอกเบี้ยธนาคารทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 7.05-7.25 ต่อปี ส่วนของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 6.975 ต่อปี เงินกู้ 172,300 ล้าน จึงมีดอกเบี้ยประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี เอาไปแจกประชาชน แล้วค่อยส่งคืนเมื่อตั้งงบประมาณได้ ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีกำหนดเวลาคืน ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังชัดเจน คนยืมคือ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และคนให้ยืมคือบอร์ดและผู้บริหาร ธกส. จองวัดได้เลย” …*…
งานนี้จึงทำท่าว่าจะ “จบยาก” อีกแล้ว เพราะถึงจะมีการอ้างเงื่อนไขว่าเงินที่ดึงมาจากธ.ก.ส.นำมาแจกให้เฉพาะในกลุ่มของเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคนเศษนั้น แต่จากข้อมูลที่เคยมีการเผยแพร่เป็นที่โดยรับทราบทั่วกันเมื่อปีก่อน ตัวเลขจำนวนรวมเกษตรกรในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ราว 10 ล้านคนต้นๆ …*…
จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่รัฐบาลต้องชี้แจง ทำความชัดเจนให้ได้ว่าจำนวนที่แท้จริงของเกษตรกรไทย มีเท่าไหร่กันแน่ มากถึง 17 ล้านคนจริงหรือไม่…*…
หากไม่ถึง 17 ล้านคน จะกระทบถึงวงเงินที่ดึงมาจาก ธ.ก.ส. และต้องหันไปหาแหล่งทุนเพื่อใช้เป็นโครงการจากที่อื่นแทนไหม …*…
ทำให้มีความเป็นไปได้ไม่น้อย ที่โครงการนี้อาจไม่สามารถเริ่มได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ตามที่นายกฯเคยประกาศไว้ นั่นหมายถึงไม่เป็นผลดีต่อเครดิตทั้งของนายกฯ รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่กำลังเตรียมทำศึกเลือกตั้งท้องถิ่นกับพรรคก้าวไกล …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (18/04/67)