“รมว.อุตฯ” บุก “บก.ปทส.”กล่าวโทษ “ผู้ครอบครอง”กากแคดเมียม พร้อมกางแผนแจ้งขนย้ายอุตสาหกรรม 3 จังหวัด  ด้าน “กมธ.อุตฯ” เสนอดับเบิ้ลซีลใส่ตู้คอนเทรนเนอร์ก่อนขนย้าย ป้องกันฟุ้งกระจาย  จี้เร่งเคลื่อนย้ายฝังกลบก่อน 7 พ.ค. ยันมีจนท.รัฐเอี่ยวลักลอบขนย้าย มีทุนจีนสีเทาอยู่เบื้องหลัง ส่วนผู้ครอบครองสารอันตรายพร้อมให้ปากคำวันนี้

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้ คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียม และสังกะสี ได้แจงรายละเอียดแผนการขนย้ายกากแดคเมียมของ บมจ. เบาว์แอนด์บียอนด์ ให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 3 พื้นที่ ได้แก่ ตาก สมุทรสาคร และชลบุรี ทราบเพื่อเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เบื้องต้น ทราบจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ผู้ประกอบการที่ครอบครองกากแคดเมียมทุกรายยินยอมที่จะให้นำกากที่ถูกอายัดไว้ กลับไปฝังกลบที่จ.ตาก


นอกจากนี้ ยังหารือประเด็นการตรวจสอบกองกากแคดเมียมก่อนที่จะนำขึ้นรถขนส่ง การจัดทำแผนฉุกเฉินของ บมจ.เบาว์แอนด์บียอนด์ หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขนส่ง ทบทวนคำสั่งทางปกครองของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่ต้องสอดคล้องกับแผนการขนย้ายกาก
“วันนี้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษการกระทำผิดของผู้ครอบครองกากแคดเมียมทั้งหมด กับ บก.ปทส. พร้อมประเมินปริมาณของกลางก่อนที่จะโอนให้ บก.ปทส.ต่อไป และในวันเดียวกันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมตรวจสอบความแข็งแรงของหลุมฝังกลบของบริษัท ฯ ที่จ.ตาก คาดว่าจะรู้ผลในวันเดียวกัน”


สำหรับความเห็นของประชาชนในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร อยากให้การขนย้ายขึ้นรถบรรทุกไม่เกิดการรั่วไหล หรือฟุ้งกระจายของกากแคดเมียม ส่วนประชาชนในพื้นที่ปลายทางที่จ.ตาก โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ 6 ต.หนองบัวใต้ อยากให้ตรวจสอบความแข็งแรงของหลุมฝังกลบ การเคลื่อนย้ายกากลงหลุมฝังกลบต้องปลอดภัย ไม่ฟุ้งกระจาย หลังจากฝังกลบแล้วไม่เกิดการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม และไม่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทุกประเด็นข้อกังวล ทางคณะทำงานแก้ปัญหา และการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม ประกอบด้วย 6 กระทรวง จะประชุมหารือ พิจารณาแผนงาน และมาตรการขนย้ายกากแคดเมียม ในวันพฤหัสที่ 18 เม.ย.นี้
ด้าน นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการตรวจพบกากแคดเมียมโรงงานย่านบางซื่อว่า ภารกิจของ กทม.มีการให้บริการจัดเก็บและกำจัดมูลฝอยอันตรายจากชุมชน ไม่รวมถึงมูลฝอยอันตรายจากอุตสาหกรรมและมูลฝอยอันตรายสารเคมีจากการลักลอบทิ้ง โดยมูลฝอยอันตรายจากชุมชน ซึ่งเก็บขนและรวบรวมจาก 50 สำนักงานเขต จะนำไปกักเก็บชั่วคราวภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยของ กทม.ทั้ง 3 แห่ง ก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล


สำหรับกรณีพบกากแคดเมียมซุกซ่อนภายในโรงงานย่านบางซื่อ กทม.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ตามระดับการจัดการสาธารณภัย ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กทม. โดย สำนักอนามัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตพื้นที่ เป็นต้น โดย สสล.มีภารกิจในการสนับสนุนตามแผนปฏิบัติการฯ นอกจากนี้ ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้สังเกตและเฝ้าระวังการจัดเก็บและรวบรวมมูลฝอย หากพบวัตถุต้องสงสัยให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบและดำเนินการต่อไป


ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมกมธ.ได้เชิญ 6 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาแก้ปัญหากากแร่แคดเมียม โดยให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาบูรณาการหลักร่วมกับ 5 หน่วยงาน โดย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาชี้แจงด้วย ซึ่งคงจะได้ทราบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามได้รับทราบจากข่าวว่าจะมีกาเริ่มเคลื่อนย้ายกากแร่แคดเมียมในวันที่ 7 พ.ค.ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าทำไมถึงช้า เพราะอะไร 


ดังนั้นตนจะได้สอบถามในที่ประชุมว่าจะเลื่อนการเคลื่อนย้ายให้เร็วกว่าวันที่ 7 พ.ค.ได้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องการจัดการกากแร่แคดเมียมที่ตรวจพบทั้งที่จ.สมุทรสาคร ชลบุรี และตาก จะดำเนินการอย่างไร ถ้ามีขนย้ายควรจะมีตู้คอนเทรนเนอร์มาบรรจุเพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายระหว่างขนย้ายของแคดเมียมได้อย่างไร เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ ได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง โดยจะมีการเสนอให้ซีลสองรอบ และใส่ไปในตู้คอนเทรนเนอร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแล้วค่อยขนย้ายไปจ.ตาก โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้รัฐก็ต้องนำงบประมาณไปดำเนินการก่อน ส่วนขั้นตอนการฟ้องร้องค่าใช้จ่ายต้องให้รัฐไปฟ้องร้องกับผู้ประกอบการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะหากจะรอให้ผู้ประกอบการพร้อม ตนคิดว่าไม่ทันและจะเป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชน 
เมื่อถามว่า ทางกมธ.ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของกมธ.ได้มีการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่เรามีแผนที่จะลงไปติดตามการฝังกลบแคดเมียมที่จ.ตาก ซึ่งเดิมวางไว้ประมาณต้นพ.ค.แต่เนื่องจากมีการเลื่อนการกำหนดการขนย้ายในวันที่ 7 พ.ค.ก็ต้องมาหารือในที่ประชุมกมธ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริงๆแล้วจะสามารถขนย้ายได้เมื่อไหร่แน่ เพราะเดิมทราบจากรมว.อุตสาหกรรมการว่าจะเริ่มมีการขนย้ายประมาณวันที่ 17 เม.ย. จึงต้องสอบถามเหตุผลจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาชี้แจงว่าทำไมจึงเลื่อนเป็นวันที่ 7 พ.ค.


เมื่อถามว่า มองการทำงานของรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติด้วยกันอย่างไร นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของรมว.อุตสาหกรรมเป็นฝ่ายบริหารท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ส่วนตนในฐานะประธานกมธ.อุตสาหกรรมเราก็ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพราะเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญเราก็ทำงานคู่ขนานกันไป ถึงแม้เราจะมาจากพรรคเดียวกัน แต่บทบาทหน้าที่ก็ต้องทำ เพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งตนและ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ก็ได้พูดคุยกันเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งเฉย และลงพื้นที่ติดตามปัญหาจนได้คืนกากแคดเมียมเกือบครบแล้ว 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ที่ทางกมธ.ระบุว่ามีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ว่าได้ข้อมูลมาทางไหน นายอัครเดช กล่าวว่า  เราทราบเหตุการณ์นี้เพราะมีคนมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องของการย้ายกากแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร้องมา ทางกมธ.จึงได้มีการตรวจสอบประมาณเดือนม.ค.เรายังไม่รู้ว่าเป็นกากแร่อะไร จนรับทราบเบื้องต้นว่าต้นทางอยู่ที่จ.ตาก จนมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยกมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบ ซึ่งครั้งแรกเราพุ่งเป้าไปที่อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมืองแร่สังกะสีเก่า แต่ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนการประชุมนัดที่ 4 เราถึงทราบและแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ และให้ปะชาชนเฝ้าระวัง 
“ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่เราเจอเร็ว ไม่ใช่ว่าต้องให้พี่น้องประชาชนล้มป่วยก่อนเหมือนในต่างประเทศ แล้วเราค่อยมาสืบหากันว่าพี่น้องประชาชนล้มป่วย เสียชีวิตเพราะอะไร” นายอัครเดช กล่าว


เมื่อถามว่า เจ้าหน้ารัฐที่ถูกร้องเรียนเป็นระดับท้องที่ต้นทาง ปลายทาง หรือกำกับดูแลใบอนุญาต นายอัครเดช กล่าวว่า ในเอกสารที่มีการส่งมาร้องเรียนเบื้องต้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มาจากระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นต้นทาง ปลายทาง หรือระดับไหนขอรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง ดังนั้นในที่ประชุมกมธ.ก็จะมีการติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการต้นทาง ปลายทาง หรือส่วนที่จะเตรียมการส่งออก ละเมิดกฎหมายและผิดกฎหมายข้อไหน และหน่วยงานไหน จะดำเนินคดีอย่างไร


เมื่อถามว่า การขนย้ายไปฝังกลบที่จ.ตาก ซึ่งมีความเสี่ยงระหว่างขนย้าย รวมทั้งผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงที่พบและทำลายจะดำเนินการอย่างไร นายอัครเดช กล่าวว่า ในอีไอเอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระบุชัดเจนที่เป็นส่วนหนึ่งที่อนุญาตคือจ.ตากประกอบการทำเหมืองแร่ และถลุงแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียม ซึ่งในใบอนุญาตมีอีไอเอ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องมีการฝังกลบที่จ.ตาก ฉะนั้นเมื่อมีการละเมิดอีไอเอ เอาออกมานอกพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนเจ้าหน้าที่รัฐได้มีคำสั่งทางปกครองไปแล้วว่าให้ขนกลับไปเก็บที่เดิมภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายฉะนั้นต้องขนกลับไปเก็บที่เดิมก่อน ส่วนอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะย้ายที่ฝังกลบหรือจะดำเนินการอย่างไรกับกากแร่แคดเมียม ซึ่งวันนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ต้องไปทำอีไอเอเพิ่ม และต้องศึกษากฎหมายด้วยว่าอนุญาตให้ทำอย่างไร และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่านักวิชาการหรือใครอยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้มันทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายก่อน และถ้าไม่เปิดช่องให้ในอนาคตมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เราในฐานะสส.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่แก้กฎหมายเราก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น เพื่อแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด 


เมื่อถามว่า มีข้อมูลทุนจีนเทาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ในการข่าวทราบว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นคนจีน เตรียมส่งออก และมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว มีความเชื่อมโยงกันหมดในตัวละคร ตั้งแต่ต้นทางที่จ.สมุทรสาคร ก็เป็นคนจีน จะมีการขนย้ายไปที่อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเตรียมส่งออกก็เป็นคนจีน เจ้าของโรงงานที่ไปตรวจพบกากแร่แคดเมืยม ที่ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเป็นผู้ประกอบการคนจีนที่กมธ.อุตสาหกรรมเคยทำเรื่องนี้ พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวละครที่เป็นคนจีนมีทั้งหมด 3 ตัวละคร ตัวละครสุดท้ายต้นทางที่จ.สมุทรสาครที่เป็นโรงหลอม ก็มีผู้ประกอบการคนจีนที่สวมสิทธิ์หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.กำลังจะสอบว่าจริงๆแล้วมีการกระทำความผิดตามที่ประกอบการโรงหลอมคนไทยร้องเรียนมาหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 4 ตัวละครที่เป็นคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครือข่าย 
“ผมจึงเรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะอ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทุนจีนก็กระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวชลบุรีอย่างต่อเนื่องรุนแรง ซึ่งทางกมธ.เคยสอบสวนและให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินคดีมาแล้ว”นายอัครเดช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่จ.สมุทรสาคร จะต้องสอบหรือไม่ว่าแคดเมียมได้มีการรั่วไหลออกไปแล้วหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ที่จ.สมุทรสาครได้รับทราบจากจังหวัดว่ามีการตรวจพบคนในโรงงานมีค่าแคดเมียมเกิน ส่วนนอกโรงงานก็มีค่าแคดเมียมเกินเหมือนกัน ในที่ประชุมกมธ.วันนี้จะได้รับทราบจากจ.สมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่าค่าแคดเมียมเกินไปเท่าไหร่และจะดำเนินอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องไปดูแล และผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบด้วย และอีกส่วนที่สำคัญคือสารที่ตกค้างไม่ว่าในดิน อากาศ น้ำ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างไรให้ประชาชนมีความอุ่นใจ เพราะจ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งอุตสาหกรรม จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณีที่พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปทส. ได้ออกหมายเรียกให้ นายเจษฎา กรรมการ บริษัท เจ แอนด์ บี เ