อีอีซี จับมือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนจิน (TEDA) ขับเคลื่อนกลไกทวิภาคี เพิ่มมิติดึงนักลงทุนจีน สู่พื้นที่ EEC
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง หรือ LOI (Letter of Intent on Cooperation) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเทียนจิน (Tianjin Economic-Technological Development Area: TEDA) ร่วมกับนาย Cao Hong Gang รองประธานคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี TEDA โดยมี ดร.ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดร.ธิติวัช อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นางสาวชญานุช มณีรินทร์ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนาย Lian Mao Jun สมาชิกคณะกรรมการประจำพรรคนครเทียนจิน และเลขาธิการคณะกรรมการพรรคเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ปินไห่ พร้อมคณะผู้บริหารร่วมเป็นพยาน
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ LOI ความร่วมมือระหว่างสองเขตพัฒนาพิเศษดังกล่าว ในการส่งเสริมและชักชวนการลงทุนของนักลงทุนจีนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี อาทิ กำหนดนโยบายการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง สร้างกลไกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ กลไกความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ความร่วมมือด้านการขนส่งท่าเรือ ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และความร่วมมือในการพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์
โดยความร่วมมือกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี TEDA ถือเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับประเทศของนครเทียนจิน เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาติรุ่นแรกของประเทศจีน ที่ตั้งขึ้นกว่า 40 ปี ปัจจุบันมีวิสาหกิจต่างชาติกว่า 3,300 รายเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาฯ แห่งนี้ มีบริษัทข้ามชาติที่สำคัญในเขตพัฒนาฯ แห่งนี้ เช่น Motorola, Toyota, Honda, SAMSUNG Electronics, Freescale Semiconductor, Nestlé, SEW และ Novo Nordisk เป็นต้น โดยมีอุตสาหกรรมเสาหลักที่สำคัญ 4 ประเภทได้แก่ อุตสาหกรรมการสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Communication) อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรม การแพทย์ชีวภาพ โดยเขต TEDA ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มี GDP ต่อหัวของเขตเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว มีความแข็งแกร่งทางศักยภาพเป็นอันดับหนึ่งจากเขตพัฒนาระดับประเทศ 57 แห่ง จึงกลายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจชั้นนำของเขตใหม่ปินไห่ และเป็นจุดเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของนครเทียนจิน
สำหรับพิธีการลงนาม LOI ในครั้งนี้จะประสานความร่วมมือระหว่างทั้งสองเขตพัฒนาพิเศษและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติภารกิจด้านส่งเสริมและชักชวนการลงทุนของนักลงทุนจีนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี โดย สกพอ.พร้อมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เดินทางไปเยือนและชักชวนการลงทุนนักลงทุนจีน เมื่อวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ที่นครเทียนจิน และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
#สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก #อีอีซี #ข่าววันนี้ #สยามรัฐวันนี้