งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้น การทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธี จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา งานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่ง ถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัด พิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธี พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณี ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงามมีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทย โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา และผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงินนั้น จะมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปี ซึ่งจะดูที่ ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ พิจารณาคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร
สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธี ฯ นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้ายเขาลักษณะ โค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
ในปี พ.ศ. 2567 นี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ 2 คู่ เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ คือ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี พระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นพระโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า
สำหรับพระโค นายสมชาย ดำทะมิส ได้บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ และนายอาคม วัฒนากูล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง มอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2567
พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือ บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้ มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม ๔๐ อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาวกับเผือกมันต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง
พันธุ์ข้าวที่นำมาประกอบในงานพระราชพิธี ฯ ซึ่งประชาชนทุกเพศทุกวัยมักเดินทางมายังลานแรกนาท้องสนามหลวง โดยมีความมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล โดยนับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนา ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาในปีก่อนหน้า ที่ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธี ฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธี น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,743 กิโลกรัม ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม จำนวน 903 กิโลกรัม กข 43 เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุกนุ่ม มีกลิ่นหอมอ่อน ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 300 กิโลกรัม กข 81 เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง เมล็ดขนาดปานกลาง มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแปรรูปเป็นข้าวพองอบกรอบ จำนวน 200 กิโลกรัม กข 85 เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย จำนวน 200 กิโลกรัม กข 87 เป็นพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ลักษณะเด่นพิเศษ ข้าวสุกนุ่ม ค่อนข้างเหนียว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 300 กิโลกรัม และกข 95 เป็นข้าวเจ้า คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย ต้านทานต่อโรคไหม้ และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เหมาะสำหรับพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง จำนวน 200 กิโลกรัม และพันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ กข 6 ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดย การใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ นับว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ค้นคว้าได้โดยใช้วิธีชักนำพันธุ์พืช ให้เปลี่ยนกรรมพันธุ์โดยใช้รังสี ให้ผลผลิตสูงและทนแล้ง คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม จำนวน 540 กิโลกรัม และสันป่าตอง 1 เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ให้ผลผลิตสูง สามารถปลูกได้ตลอดปี จำนวน 100 กิโลกรัม
พันธุ์ข้าวดังกล่าว ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://rice.moac.go.th/ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด โดยเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567
คิวอาร์โค้ดลงทะเบียนรับพันธุ์ข้าวพระราชทาน
สำหรับการเสี่ยงทายในพระราชพิธี ฯ จะมีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของประเทศ ซึ่งแต่ละปีนั้น ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรก พระยาแรกจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่ง แต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ 6 คืบ 5 คืบ และ 4 คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดนั้นจะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปี เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา โดยในปี พ.ศ. 2567 เกษตรกรและบุคคลากรทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณ พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ โดยจะเข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ ในประเภทต่าง ๆ ดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 สาขาอาชีพ
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นางทองเม็ด พรมพิทักษ์ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายประดับ ปิ่นนาค อ.เมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสุริยา ห่วงถวิล อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางอัญชัน สุขจันทร์ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นายพินิจ แก้วพิมาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสัมฤทธิ์ อินทร์เฉลียว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณัฏฐชัย นาคเกษม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา
10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางอวยพร ราชเล็ก อ.กงหรา ต.พัทลุง
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสนิท ดำบรรณ์ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายแล โพธิ์วัด อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี
15) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายนพธิไกร จอมภาปิน อ.ลอง จ.แพร่
16) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 12 กลุ่ม
1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร อ.สูงเม่น จ.แพร่
2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบ้านคำข่า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
3) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไทย เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
4) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่
5) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
6) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
7) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) อ.ลอง จ.แพร่
8) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามัคคีพันธุ์ข้าว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
9) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน อ.เถิน จ.ลำปาง
11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท
12) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์
1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เชียงใหม่ - ลำพูน จำกัด อ.หางดง จ.เชียงใหม่
2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี
3) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด อ.เอราวัณ จ.เลย
4) สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขลำพูน จำกัด อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
6) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภาอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
7) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำกัด อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา
1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายวินิจ ถิตย์ผาด อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายพิบูลย์ชัย ชวนชื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอัษฏางค์ สีหาราช อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
ทั้งนี้ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรฯ ทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง