นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแนวทางแก้ปัญหาน้ำเสียในบึงน้ำสวนลุมพินีว่า ปัจจุบันพบน้ำในบึงน้ำสวนลุมพินีมีกลิ่นคาว ระดับน้ำลดลงเกือบ 1 เมตร ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากฝนลดลง ซึ่งปกติแล้วฝนจะตกอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงที่ผ่านมาระบบน้ำบาดาลที่ใช้เติมน้ำในบึงเสียหาย เพิ่งซ่อมเสร็จ ระดับน้ำที่ลดลงทำให้สาหร่ายใต้น้ำได้รับแสงแดดและเจริญเติบโตมากขึ้น สาหร่ายแก่ที่ตายแล้วจึงจับตัวเป็นเมือก ทำให้คุณภาพน้ำไม่ดี ออกซิเจนต่ำ เกิดฟองบนผิวน้ำ และมีกลิ่นเหม็น
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจวัดมาตรฐานน้ำที่มีคุณภาพหรือค่า DO (Dissolved oxygen) อยู่ที่ 0.8 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) และบางจุดของบึงอยู่ที่ 2.3 mg/L ซึ่งน้ำบ่อเดียวกันอาจมีค่า DO แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการหมุนเวียนของน้ำรอบบ่อ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างควบคุมมาตรฐานน้ำโดยรวมให้มีค่า DO เกิน 2.0 ขึ้นไป (คุณภาพดี ค่า DO ประมาณ 5-8 mg/L น้ำเสีย ค่า DO ต่ำกว่า 3 mg/L) นอกจากนี้ ในช่วงกลางคืนการเจริญเติบโตของสาหร่ายจำนวนมาก จะดึงออกซิเจนในน้ำไปใช้ ทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำลงกว่าช่วงกลางวัน ซึ่งค่า DO ที่วัดได้อาจแตกต่างไปด้วย
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาจะใช้วิธีนำน้ำจากแหล่งน้ำมาเพิ่มในบึง แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ สำนักการระบายน้ำจึงมีแผนนำน้ำที่เข้ามาจากคลองไผ่สิงโตวันละ 4,000 ลบ.ม. มาพักไว้ในสระเก็บน้ำเพื่อทำการเติมออกซิเจนในน้ำ ให้มีค่า DO ประมาณ 5 mg/L ก่อนปล่อยสู่บึงสวนลุมพินี รวมถึง การใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรีมาเติมวันละประมาณ 4,500 ลบ.ม. ซึ่งมีค่า DO ที่ประมาณ 3 mg/L นอกจากนี้ จะเริ่มขุดลอกเลนตะกอนใต้บึงน้ำในวันนี้ (17เม.ย.67) เบื้องต้นได้เพิ่มกังหันตีน้ำและดัดแปลงรถสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อใช้ในการเติมออกซิเจนในบึงแล้ว และจะมีการนำเครื่องเติมอากาศ ประเภท JET AERATOR (ใช้ในกรณีน้ำเสียฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพ) กำลัง 2.2 กิโลวัตต์ จำนวน 4 ตัว มาติดตั้งเพิ่มด้วย
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สวนสาธารณะอื่น ๆ ยังไม่พบปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากมีระบบถ่ายเทน้ำและมีเครื่องเติมออกซิเจน ในอนาคตสวนลุมพินีอาจต้องมีการติดตั้งเครื่องเติมออกซิเจนเหลวเพื่อความรวดเร็ว และวางแผนการจัดการน้ำให้ดีกว่านี้ สำนักสิ่งแวดล้อมอาจไม่มีกำลังมากพอจะจัดการดูแล จึงต้องอาศัยสำนักการระบายน้ำเข้าช่วย ซึ่งได้กำชับแล้วว่า ให้ประชุมวางแผนจัดการให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำ การปรับปรุงห้องน้ำ และน้ำพุในสวนฯ เป็นต้น โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน