"ศปถ." สรุป 5 วันของ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ เสียชีวิตแล้ว 206 บาดเจ็บ 1,593 ราย พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยรองรับประชาชนเดินทางกลับ คุมเข้มดูแลการจราจรถนนสายหลัก เส้นทางขาเข้า กทม. กวดขันขับรถเร็ว - ง่วงแล้วขับ ขณะที่ ศาลสั่งคุมประพฤติ 3,973 คดี เมาแล้วขับ

 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 16 เม.ย.67 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ศปถ.) พ.ศ.2567 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุ 301 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 314 คน ผู้เสียชีวิต 39 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11 – 15 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,564 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,593 คน ผู้เสียชีวิต รวม 206 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้ประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่าง ๆ โดยเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ ประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ คุมเข้มการขับรถเร็วในเส้นทางตรง ตลอดจนเตรียมพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างทันท่วงที และขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนอำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลและรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ และนำส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว


 นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 301 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 314 คน ผู้เสียชีวิต 39 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 43.19 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.92 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 15.28 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 78.74 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.89 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 9.63 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 18.13 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,386 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (4 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11 – 15 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,564 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,593 คน ผู้เสียชีวิต รวม 206 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (61 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (60 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเชียงราย (13 ราย)


 นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงยานพาหนะให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุทันที หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนอำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลและรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ และนำส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว
 นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ในวันนี้ (16 เม.ย. 67) เส้นทางสายหลักและถนนที่เชื่อมต่อจากภูมิภาคเข้าสู่กรุงเทพมหานครมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ประกอบกับสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ผ่านมาในช่วงวันดังกล่าว มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดและอำเภอบูรณาการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เน้นการทำงานเชิงป้องกัน โดยเฉพาะการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนเริ่มตั้งแต่ด่านชุมชนไปจนถึงด่านหลัก พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน รวมถึงดูแลความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมในการขับรถอย่างปลอดภัย 


 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า วันนี้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มีการเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก จึงขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนดูแลสภาพร่างกายของตนเองให้มีความพร้อมในการขับขี่ และตรวจเช็คสภาพรถให้ปลอดภัย   ก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก 1 - 2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่าง ๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ทุกคนเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน จะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ทำให้สภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


 ขณะที่ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ในวันที่ 15 เมษายน 2567 รวม 242 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 236 คดี และคดีขับเสพ 30 คดี สำหรับยอดรวมสะสม 5 วัน ของ 7 วันอันตราย มีจำนวน 4,132 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 3,973 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.15 , คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.07 และคดีขับเสพ 156 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.78โดยกรุงเทพมหานครมีคดีเมาขับสูงสุดอันดับหนึ่ง 446 คดี นนทบุรี 238 คดี และสมุทรปราการ 214 คดี


 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติสะสม 5 วัน ของ 7 วันอันตรายปี 2566 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 5,869 คดี และปี 2567 จำนวน 3,973 คดี ลดลง 1,896 คดี