สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำทีมโดย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล นางสาวนัดดา เจ๊ะยอเด ผู้แทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมพร้อมคณะทำงาน ตรวจเยี่ยมลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ 2566 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงานในระยะ 12 เดือน
พร้อมเยี่ยมชมโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนล้านนาสร้างสรรค์ เปิดโอกาสสร้างความสามารถทางการตลาด และสร้างสรรค์พื้นที่ด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป จังหวัดเชียงใหม่
รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กลุ่ม Area Based ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมรับฟังรายงานผลการดำเนินงานในระยะ 12 เดือน พร้อมรับชมนิทรรศการผลการดำเนินงานจากโครงการวิจัย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการภายใต้โปรแกรม 25 แผนงานย่อยรายประเด็น “แผนงานพัฒนาระบบ ววน. ในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ประจำปีงบประมาณ 2566
เพื่อดำเนินโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การเป็นล้านนาเมืองสร้างสรรค์(Creative LANNA)
รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระดับครัวเรือนและชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตรวมถึงความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนให้ดีขึ้น โดยมีบทบาทสำคัญกับท้องถิ่นในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นกับห่วงโซ่มูลค่าของภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคให้มีประสิทธิภาพ
โครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน (The Development of Creative Smart Community driven by Innovation and Lifelong Learning University) เป็นการพลิกโฉมการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจและผู้ประกอบการโอทอป เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการเป็นเมืองล้านนาสร้างสรรค์ (Creative LANNA) พัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สู่การเป็นล้านนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative LANNA) และเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) รองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC)
ซึ่งโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน เป็นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพราะวัฒนธรรมท้องถิ่นจะส่งผลให้เกิดความหลากหลายทั้งในงานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว อาหาร ด้วยการสร้างผลที่มีคุณค่าและมีมูลค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมสร้างนวัตกรรมการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อไป