ฤดูร้อนในปีนี้ ต้องบอกว่า อากาศร้อนเหลือร้าย
โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยเรา ก็ยังออกมาระบุว่า อากาศร้อนของฤดูร้อนในปีนี้ ร้อนกว่าฤดูร้อนของเมื่อปีที่แล้วกันเสียอีก
ถึงขนาดมีรายงานข่าวว่า บางบ้านที่ยังใช้พัดลม เปิดพัดลมถึง 2 ตัว เพื่อคลายร้อน แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนมีผู้เสียชีวิตภายในบ้านเพราะอากาศร้อนจัด ส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงที่ผู้เสียชีวิตรายนี้ป่วยเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้วกำเริบ บวกกับการเกิดอาการฮีทสโตรก จากปัจจัยของสภาพอากาศที่ร้อนจัด
ขณะที่ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ เปิดเผยว่า ปีที่แล้วที่ว่า อากาศร้อนสุดๆ จนทุบสถิติในรอบ 125,000 ปี แต่มาถึงปีนี้ ก็มีแนวโน้มว่า สถิติข้างต้น จะถูกทุบซ้ำในปีนี้อีก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนยิ่งกว่า เพราะมีเหตุปัจจัยจากการโลกเราปล่อยพวกก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกริยาก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เพิ่มขึ้น นั่นเอง จึงทำให้อากาศในปีนี้ร้อนมากขึ้น
พร้อมกันนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศข้างต้น ก็หยิบยกรายงานของ “องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “โนอา” (NOAA : National Oceanic and Atmosphere Administration) ที่เปิดเผยผลการศึกษาติดตามสถานการณ์ของชั้นบรรยากาศโลกเราในช่วงรอบปีที่ผ่านมา คือ 2023 (พ.ศ. 2566)
โดยรายงานของโนอา ระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปี 2023 ที่ผ่านมานั้น มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าปีก่อนๆ และเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นในแบบคงที่ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเร็วๆ นี้อีกต่างหากด้วย คือ เพิ่มขึ้นเป็นปริมาณอย่างสูง นั่นเอง เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของมนุษย์เราเพิ่มขึ้นปริมาณสูง ภายหลังจากคณะนักวิเคราะห์จากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บ จากโนอา ศึกษาติดตามเก็บตัวอย่างจากชั้นบรรยากาศตามสถานีต่างๆ ของโนอารวมแล้วถึง 15,000 ตัวอย่าง จากในพื้นที่ที่มนุษย์มีกิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ตลอดช่วงปีที่แล้ว ก่อนวิเคราะห์แล้วรายงานผลออกมา
ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจกที่ว่า ก็มีสาเหตุต้นตอมาจากกิจกรรมการใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล เช่น น้ำมันปิโตรเลียม และถ่านหิน เป็นต้น ของมนุษย์เรา ที่ปล่อยก๊าซเสียต่างๆ จนกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก๊าซเสียทีว่า ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซไนโตรเจน
เหล่านักวิเคราะห์จากห้องแล็บของโนอา เปิดเผยว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเหนือพื้นผิวของโลกเราเมื่อปีที่แล้ว มีความเข้มข้นขึ้น จากผลพวงของปริมาณที่เพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามหน่วยวัดที่เรียกว่า “ส่วนต่อล้าน” หรือ “ส่วนในล้านส่วน” หรือ “พีพีเอ็ม (PPM : Parts Per Million)”
บรรดานักวิเคราะห์ในห้องแล็บของโนอา ระบุเป็นตัวเลขด้วยว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 2.8 พีพีเอ็ม ต่ออัตราเฉลี่ย 419.3 พีพีเอ็ม ในระหว่างห้วงปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขอัตราเฉลี่ย 419.3 พีพีเอ็มในช่วง 12 เดือนของปี 2023 ข้างต้น ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประมาณการ หรือที่ประเมินไว้ เมื่อช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ ระยะเวลาก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็เป็นช่วงก่อนปี ค.ศ. 1760 – 1850 หรือกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 หรือราวกว่า 200 ปีที่แล้ว
คณะนักวิเคราะห์จากห้องแล็บของโนอา ระบุด้วยว่า ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของปีที่แล้ว ก็ยังถือเป็นปีที่ 12 ติดต่อกันที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มปริมาณขึ้นในชั้นบรรยากาศในระดับตัวเลขตั้งแต่ 2 พีพีเอ็มขึ้นไป
โดยก่อนหน้านี้ก่อนปี 2014 (พ.ศ. 2557) ลงไปนั้น การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ก็น้อยกว่า 2 พีพีเอ็มในแต่ละปี
ว่ากันถึงการศึกษาติดตามสถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยวัดปริมาณเป็นพีพีเอ็มในชั้นบรรยากาศลักษณะนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) เป็นปีแรก
นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ก็ยังมีก๊าซมีเทน ที่ในปีที่แล้ว มนุษย์เราก็ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณสูง
โดยคณะนักวิเคราะห์จากห้องแล็บของโนอา รายงานว่า ในปี 2023 ก๊าซมีเทนถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศถึงในอัตราเฉลี่ย 1,922.6 ส่วนต่อพันล้าน หรือส่วนในพันล้านส่วน หรือพีพีบี (PPB : Parts Per Billion) ตามหน่วยวัดปริมาณของก๊าซมีเทน ซึ่งปริมาณข้างต้น ก็ถือว่า เพิ่มขึ้นจากปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ 10.9 พีพีบี อันเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 พีพีบี ตลอดช่วงหลายปีติดต่อกัน
ทั้งนี้ ตัวเลข 1,922.6 พีพีบีดังกล่าวในชั้นบรรยากาศของโลกเรานั้น ก็เป็นจำนวนที่มากกว่าในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 160 หรือ 160 เปอร์เซ็นต์ คือ กว่า 2 เท่าครึ่ง
ขณะที่ การปล่อยก๊าซไนโตรเจรสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อปีที่แล้ว ก็มีจำนวนมากถึง 336.7 พีพีบี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1 พีพีบี และเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 จากเดิมที่ในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ในชั้นบรรยากาศโลกมีก๊าซมีเทนอยู่เพียง 270 พีพีบี
โดยก๊าซเสียทั้ง 3 ชนิดนี้ เมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ได้กลายเป็นก๊าซเรือนกระจก อันเป็นภาวะที่ชั้นบรรยากาศโลกเสมือนหนึ่งเป็นกระจกห่อหุ้มโลก ซึ่งจะยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านลงมายังพื้นผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ไม่ไปไหน ซึ่งรังสีอินฟราเรด ก็เป็นพลังงานความร้อน เมื่อไม่สามารถไปไหนได้ ก็จะกระจายอยู่ภายในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลกเรา ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะมีอากาศร้อนขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ เหล่านักวิเคราะห์จากห้องแล็บของโนอา ได้กระตุ้นเตือนให้ทางการของประเทศต่างๆ เอาจริงเอาจังในการดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่และสัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่โลกจะร้อนมากกว่าไปนี้