ศปภ.สรุปยอด 3 วัน รณรงค์ 7วันอันตราย ช่วงสงกรานต์ เสียชีวิต 116 ศพ บาดเจ็บ 968 ราย เมืองคอน-สงขลา-กทม. ขึ้นนำสูญเสียสะสม 28 จังหวัดตายเป็นศูนย์ ด้าน กรมคุมประพฤติ สรุป 3 วัน คดีเมาแล้วขับ ยอดสะสม 1,631 คดี
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เม.ย.2567 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ "ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 392 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 411 คน ผู้เสียชีวิต 48 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.05 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.81 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 16.84 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.50 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.63 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.97 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.10 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 - 19.00 น. ร้อยละ 9.18 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30 - 39 ปีร้อยละ 18.52 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,765 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,430 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสงขลา (19 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (23 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วัน ของการรณรงค์ (11 - 13 เม.ย.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 936 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 968 คน ผู้เสียชีวิต รวม 116 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 28 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราชและสงขลา (39 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สงขลา (45 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (8 ราย)
นายวิทยา กล่าวว่า หลายพื้นที่ยังมีการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ โดยวันที่ 14 เม.ย.67 ถือเป็นวันครอบครัวซึ่งประชาชนจะมีการรวมตัวกันรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ทำให้มีการเดินทางบนถนนระหว่างจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ชุมชน มากขึ้น รวมถึงยังมีการสังสรรค์ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเล่นน้ำสงกรานต์ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจและด่านชุมชนให้กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว การใช้อุปกรณ์นิรภัย การขับขี่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และการบรรทุกผู้โดยสารท้ายรถกระบะเล่นน้ำสงกรานต์ รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลความปลอดภัยบริเวณพื้นที่จัดงานสงกรานต์และสถานบันเทิง รวมถึงคุมเข้มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หากพบกรณีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบสวนและขยายผลไปยังผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนพิจารณาใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมายกับผู้ขับขี่ที่กระความผิดซ้ำ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้จังหวัดวิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เพื่อวางมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงดังกล่าวต่อไป
ด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี และเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา (11 - 13 เม.ย.67) พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงที่หลักทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บคือการขับรถเร็ว และการขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับมาตรการและวางแผนจัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นการปฏิบัติงานบนเส้นทางสายรอง ด่านชุมชน จุดตรวจและจุดสกัด โดยเฉพาะบริเวณสถานที่จัดงานสงกรานต์ตามประเพณีและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงประเมินความพร้อมสภาพร่างกายของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับในและดื่มแล้วขับ นอกจากนี้ วันนี้เป็นวันครอบครัวขอให้ประชาชนใช้เวลากับสมาชิกในครอบครัวด้วยความสุขและความปลอดภัย ท้ายนี้ ขอฝากให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง และเล่นน้ำสงกรานต์อย่างระมัดระวัง
ส่วน นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึง สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่สามของ 7 วันอันตราย (13 เมษายน 2567) มีคดีทั้งสิ้น 249 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 242 คดี และ คดีขับเสพ 7 คดี โดยสถิติคดีเมาขับยอดสะสม 3 วัน ได้แก่ อันดับหนึ่ง กรุงเทพมหานคร 222 คดี อันดับสอง เชียงใหม่ 125 คดี และอันดับสามจังหวัดนนทบุรี 120 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีในวันที่สาม ของ 7 วันอันตรายปี 2566 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 1,845 คดี และปี 2567 จำนวน 242 คดี ลดลง จำนวน 1,603 คดี คิดเป็นร้อยละ 86.88
สำหรับยอดสะสม 3 วันของ 7 วันอันตราย (11-13 เมษายน 2567) จำนวน 1,745 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1631 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.99 คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.17 คดีขับเสพ 120 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.84
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บริเวณจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 170 จุด โดยมีผู้ถูกคุมความประพฤติ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย ศูนย์เครือข่ายยุติธรรมชุมชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 3,990 คน ร่วมกันแจกน้ำดื่ม กาแฟ และออกเยี่ยมจุดตรวจบริการประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนเดินทางอย่างปลอดภัย