ณ เวลานี้ กลุ่มประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร รวมถึงไทยเรา ต้องบอกว่า อากาศมีสภาพอย่างร้อนเหลือ เพราะเข้าสู่ฤดูร้อน คิมหันตฤดู
โดยสภาพอากาศร้อนที่ว่า บรรดาผู้เชี่ยชาญด้านการแพทย์ สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก ก็ยังออกมาเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ประสบกับสภาพอากาศร้อนจัด ณ ชั่วโมงนี้ ให้ระมัดระวังสุขภาพ เพราะอาจจะล้มป่วย หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่ายๆ
ไม่ผิดอะไรกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด เป็นเพชฌฆาตเงียบ ที่คร่าชีวิตสังหารผู้คนในพื้นที่ ที่นับวันสภาพอากาศที่ร้อนจัด จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
อันเป็นผลจาก “วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” ที่แม้ขนาดผู้เชี่ยวชาญของ “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” เรียกว่า เป็นภาวะ “โลกเดือด” ซึ่งรุนแรงเกินกว่าคำว่า “โลกร้อน” ไปแล้ว
พร้อมๆ กันนี้ สภาพอากาศที่ร้อนจัด ก็ปลิดชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ในหลายๆ พื้นที่ นอกเหนือจากการล้มป่วยด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในช่วงที่ปรากฏการณ์ “คลื่นร้อน (Heat Wave)” พัดกระหน่ำในพื้นที่นั้นๆ
ตามการเปิดเผยของ “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่หลายคนเรียกกันสั้นๆ ว่า “ฮู” (WHO : World Health Organisation) ระบุว่า ตัวเลขของประชากรโลกที่เผชิญกับภัยคลื่นร้อน ตั้งแต่ช่วงปี 2000 – 2016 (พ.ศ. 2543 – 2559) หรือในระยะเวลา 16 ปี ต้องประสบภัยกับคลื่นร้อนจำนวนมากขึ้นถึง 125 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ไม่นับที่ตกสำรวจซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมิใช่น้อยอีกต่างหาก โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประมาณการว่า ตัวเลขของประชากรโลกที่จะประสบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด น่าจะสูงถึงระดับหลักพันล้านคนด้วยซ้ำ
ในจำนวนที่เผชิญกับภัยคลื่นร้อนนี้ หากนับย้อนถอยหลังลงอีก 2 ปี คือ ปี 1998 (พ.ศ. 2541) จนถึงปี 2017 (พ.ศ. 2560) ปรากฏว่า ประชากรโลกต้องเซ่นสังเวยชีวิตให้กับภัยคลื่นร้อนไปไม่น้อยกว่า 166,000 คน ซึ่งทางบรรดาผู้เชี่ยวชาญ คาดการณ์กันว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยคลื่นร้อนที่แท้จริง น่าจะสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกระบุเพราะคาดว่า น่าจะมีที่ตกหล่นจากการสำรวจอีกไม่น้อยเช่นกัน
โดยในช่วงเวลาดังกล่าว คือ ระหว่างช่วงปี 1998 – 2017 ที่มีผู้เสียชีวิตจากภัยคลื่นความร้อนที่ถาโถมทั่วโลกนั้น ทาง “ดับเบิลยูเอชโอ” ระบุว่า เอาเฉพาะที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป ก็ถูกภัยคลื่นร้อนคร่าชีวิตในปี 2003 (พ.ศ. 2546) เพียงปีเดียวก็มีจำนวนมากกว่า 70,000 คนเข้าไปแล้ว
เรียกได้ว่า แม้เป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับไม่ได้ช่วยรักษาชีวิตผู้คนของพวกเขาไว้ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า “คลื่นร้อน” เป็นมฤตยูร้ายขนาดไหน
และนั่น! ก็เป็นข้อมูลเก่าของเมื่อช่วงทศวรรษ ถึงสองทศวรรษก่อน มาว่ากันในช่วงไม่กี่ขวบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประชากรในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยุโรป ยังคงตกเป็นเหยื่อให้ภัยจากคลื่นร้อนคร่าชีวิตเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
ดังตัวเลขเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ชาวยุโรปกว่า 60,000 คน ถูกคลื่นร้อนปลิดชีวิต
โดยตัวเลขข้างต้น เอาเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ เมืองผู้ดี ก็ถูกคลื่นร้อนปลิดชีวิตไปจำนวนมากกว่า 4,500 คนด้วยกัน เช่นเดียวกับ “เยอรมนี” ชาติพี่เบิ้มใหญ่ในยุโรป ก็มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นร้อนในจำนวนมากกว่า 4,500 คนเช่นกัน รวมทั้งที่ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่พลเมืองของพวกเขาถูกคลื่นร้อนคร่าชีวิตไปจำนวนประเทศละกว่า 10,000 คน แบบความเป็นประเทศพัฒนาแล้วช่วยยื้อชีวิตพวกเขาไว้ไม่ได้
ใช่แต่เท่านั้น แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจใหญ่หมายเลขหนึ่งของโลก ที่มีความเจริญในหลายๆ ด้าน ก็ปรากฏว่า พลเมืองของพวกเขาถูกภัยจากสภาพอากาศร้อนจัด หรือคลื่นร้อน ปลิดชีพไปเป็นจำนวนหลายพันคนในแต่ละปีเช่นกัน
นอกจากยุโรปและสหรัฐฯ แล้ว ที่ภูมิภาคเอเชียใต้ อย่างประเทศอินเดีย และเอเชียตะวันออก เช่น จีน ก็มีพลเมืองประชากรถูกคลื่นร้อนปลิดชีพไปในแต่ละปีจำนวนมิใช่น้อย
โดยที่อินเดียนั้น มีตัวเลขของทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแต่ละปีหลายพันคน แต่ผู้เชี่ยวชาญ ยังไม่ปักใจเชื่อ แต่คาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะมีจำนวนมากกว่าที่ทางการรายงานออกมาหลายเท่า
ส่วนที่จีน ก็มีผู้เสียชีวิตจาภัยคลื่นร้อนในแต่ละปีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งตามตัวเลขที่ทางวารสารการแพทย์ “แลนเซต” รายงาน ก็ระบุว่า จากการสำรวจติดตามสถานการณ์พบว่า จีนมีผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจำนวนมากกว่า 20,000 – 80,000 คนในแต่ละปี
พร้อมกันนี้ ทางวารสารการแพทย์ “แลนเซต” ยังระบุว่า ผู้เสียชีวิตจากภัยคลื่นร้อน หรือสภาพอากาศที่ร้อนจัดในแต่ละปีทั่วโลกนั้น มีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม หรืออุทกภัย และจากพายุที่มีความเร็วลมรุนแรงพัดกระหน่ำ หรือวาตภัย รวมกันเสียอีก หากเปรียบเทียบกันในแบบปีต่อปี
ส่วนผู้ที่รอดชีวิต ยังไม่ตายจากคลื่นร้อน ก็ต้องเผชิญกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่า มีตัวเลขสูงยิ่งกว่าเหยื่อผู้เสียชีวิตจากคลื่นร้อนหลายเท่าตัว
โดยมีรายงานจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกว่า ผู้สูงอายุ คือ มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะล้มป่วยจากคลื่นร้อน ที่สภาพอากาศร้อนจัด มากกว่าผู้คนกลุ่มอื่นๆ ทว่า อย่างไรก็ตาม แม้เป็นกลุ่มคนที่ไม่เสี่ยงสูง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ก็เตือนให้ระมัดระวังสุขภาพจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพราะอาจทำให้ล้มป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก โรคผื่นแดด อาการภาวะตะคริวแดด อาการภาวะอ่อนเพลีย ซึ่งทั้งสองอาการมาจากร่างกายของเราสูญเสียน้ำไปมาก รวมไปถึงโรคอุจจาระที่มักจะอาละวาดในช่วงฤดูร้อนของทุกปี จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคร้ายเข้าไป