วันที่ 13 เม.ย.67 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...

วัคซีน ใช้สำหรับป้องกันโรค

ยง ภู่วรวรรณ

ราชบัณฑิต

13 เมษายน 2567

สวัสดีวันสงกรานต์ ถือเป็นปีใหม่ไทย ขอให้ทุกคนมีความสุข ปราศจากโรคภัย สนุกสนานกับวันสงกรานต์

เมื่อได้ฟังจากการส่งต่อกันมาในสื่อสังคม ว่าวัคซีน เช่นตับอักเสบบี ไม่จำเป็นในเด็กเล็ก หรือ วัคซีนคอตีบ ก็ไม่จำเป็นเพราะเราไม่มีโรคแล้ว ฟังแล้วอยากจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

เมื่อก่อนมีวัคซีนตับอักเสบบี หรือมากกว่า 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีการสูญเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยเฉพาะมะเร็งตับมากกว่าปีละ 12,000 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะในวัยเด็ก และเด็กแรกเกิดที่คลอดจากมารดาเป็น พาหะ และจะติดแบบไม่มีอาการ เมื่อโตขึ้นจะเป็นตับแข็งและมะเร็งตับตามมา

เราจึงจำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนตับอักเสบบีในทารกแรกเกิด และให้ครบ 3 เข็มในขวบปีแรก เราเริ่มให้ตั้งแต่ปีพ.ศ 2531 มาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 35 ปี ทำให้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีของเราลดลงอย่างมาก เห็นได้จากเด็กต่ำกว่า 5 ปี ตรวจพบเป็นอาหารน้อยกว่าร้อยละ 0.1 และปัจจุบันนี้มะเร็งตับของเราก็ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ถ้าเราดำเนินการแบบนี้ต่อไป ในที่สุดไวรัสตับอักเสบบีก็จะเหลือน้อยที่สุด องค์การอนามัยโลกเอง ก็กำหนดการขจัดไวรัสตับอักเสบบี ให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2030 ประเทศไทยก็ร่วมนโยบายนี้ ดังนั้นการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในขวบปีแรกจึงยังมีความจำเป็น และจะต้องดำเนินการต่อไป

ทำนองเดียวกันยกตัวอย่างโรคคอตีบ สมัยก่อนที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์หรือจบใหม่ เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เรารักษาโรคคอตีบ ประมาณปีละ 50 ราย ในปัจจุบันนี้ไม่เคยพบเลย ถ้าย้อนไป 10 ปีที่แล้ว มีการระบาดของคอตีบที่ภาคอีสาน โดยได้รับเชื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันเชื้อไม่ได้สูญพันธุ์ไป เราจึงยังจำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนอยู่ต่อไป ตราบใดที่โรคยังไม่สูญพันธุ์ ถ้าไม่ให้ก็จะเกิดการระบาดของโรคในวงกว้างได้

โรคที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากวัคซีน ก็คงจะเป็นฝีดาษ เมื่อสูญพันธุ์เราก็จะเลิกใช้วัคซีน

ดังนั้น วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มีความจำเป็นและยังคงต้องให้ต่อไป โดยติดตามระบาดวิทยาของแต่ละโรค จนกว่าโรคนั้นจะสูญพันธุ์ไปเราก็จะเลิกวัคซีนชนิดนั้น