บทความพิเศษ : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ดูประหนึ่งว่ามาตรการในการแก้ไขเยียวยาของรัฐเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ หรือฝุ่นจิ๋ว หรือปัญหาหมอกควัน PM2.5 (Particulate Matters) ที่เป็นปัญหามานานแสนนานแล้ว ว่ากันว่าคนไทยสูดฝุ่นพิษมานานแล้วกว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยยังไม่มีเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน คือแนวโน้มจะยาวๆ ประหนึ่งว่ายังไม่เด็ดขาด ยังไม่มีข้อยุติ นโยบายรัฐจึงซื้อเวลาไปก่อนตามหน้างานไป หรือว่าจะรอกฎหมายอากาศสะอาด ที่กำลังจะตราเป็นพระราชบัญญัติ ก็ไม่แน่ใจว่าจะรวดเร็วเพียงใด เพราะ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็ใช่ว่าจะแก้ไขปัญหาได้ทันทีไม่ ที่สำคัญก็คือ เป็นปัญหาระหว่างประเทศหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution) คงต้องนำ “ความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อม” หรือ “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน” (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution 2002) มาใช้ให้มีผลทางปฏิบัติ ก็ไหนว่าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Products) ที่นอกเหนือจากความยั่งยืน (Sustainable)

ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจโลก ดาวเทียมระบบ MODIS (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) เป็น 1 ใน 5 ของระบบเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนดาวเทียม เป็นเครื่องมือถ่ายภาพที่ได้รับการติดตั้งบนดาวเทียม TERRA และ AQUA พัฒนาโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration: NASA) จะมีแถบการถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและสามารถถ่ายภาพได้วันละ 4 ช่วงเวลา ระบบ MODIS ระบุพื้นที่เผาไหม้ (burn scar) ของพื้นที่มากกว่า 250 ตารางเมตร และวิเคราะห์จุดความร้อน (hotspot) ที่มีขนาดใหญ่กว่า 375 ตารางเมตร ทำให้การสำรวจ “จุดความร้อนและบริเวณพื้นที่เผาไหม้” (Hotspot & Burn Scar) เป็นข้อมูลแบบ real time

การใช้พื้นที่เกษตรเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลของกรีนพีซ ระบุว่า การขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือตัวการสำคัญในการขยายการลุงทุนข้ามแดนและพื้นที่เพาะปลูกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ท้ายที่สุดก็ก่อฝุ่นพิษข้ามแดนกลับมายังไทย รัฐควรเร่งกำหนดให้พ.ร.บ.อากาศสะอาดมีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานและบังคับใช้กฎหมายที่สามารถเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่า เพราะนี่คือวิกฤตเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน มากกว่าผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรม รัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และการทำลายป่า มองการแก้ไขได้หลายมิติ หากมองว่า ควันพิษข้ามพรมแดนจากการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดของบรรษัทข้ามชาติอาจไม่เกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหากเชื่อว่าเกิดจากไฟป่าภายในประเทศย่อมไม่เกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากแต่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงมหาดไทย อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงนัก

ล่าสุดต้นปี 2567 (19 มกราคม 2567) ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาคดีฝุ่นภาคเหนือ คืนปอดให้ประชาชน ว่ารัฐผิดจริงในกรณีแก้ฝุ่นล่าช้า โดยสั่งการให้ดำเนินการใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนภายใน 90 วัน ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้ฟ้องขอรัฐอย่าได้อุทธรณ์ เพราะจะเป็นการยืดระยะเวลาแก้ปัญหา แต่รัฐกลับอุทธรณ์คำพิพากษานี้ ทำให้คดีจึงไม่ยังถึงที่สุด การแก้ไขปัญหาจึงต้องยืดยาวออกไป เสมือนการซื้อเวลาของรัฐ ภาคเหนือจึงต้องคลุกฝุ่นอย่างรุนแรงติดอันดับหนึ่งของโลกต่อไป

ณ วันนี้ ค่าฝุ่นเหนือยังสูง แม้ว่าจะมีฝนตกมาทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสขึ้นบ้างก็ตาม ยังมาเจอกับการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ที่รัฐจะส่งเสริมในตลอดเดือนเมษายน 2567 อีก ทำให้รัฐต้องปรับกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ข้อมูลเก่าเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 พบว่า ทั่วไทยโซนสีแดงฝุ่นพิษคลุ้งใน 8 พื้นที่ เชียงใหม่ติดอันดับ 7 โลก กทม. อันดับ 8 โลก แต่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ปฏิเสธว่าปัจจุบัน ค่า PM2.5 ของ จ.เชียงใหม่ ไม่ได้สูงเป็นที่ 1 ของโลก เป็นเพียงที่ 1 ของประเทศไทยในบางชั่วโมง ของบางวันเท่านั้น และสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐทำงาน work from home แต่ความรุนแรงลดลงแล้ว แต่ก่อนทำไมไม่ทำ มองว่าเป็นกลยุทธ์สร้างภาพ ตามกระแสหรือเปล่า ปีนี้ทางราชการปล่อยมือไม่ทำอะไรเลยเหมือนให้เผาป่าเรียกงบประมาณปีหน้า ทำให้คิดว่าปีนี้เผาน้อยไปปีหน้างบก็จะมาน้อย ปีนี้จึงต้องเผาให้หนัก เป็นกลวิธีของหน่วยงานราชการที่หลอกล่อเอางบประมาณหรือไม่ หากภาครัฐไม่ทำให้ปัญหาดูหนัก (วิกฤติ) รัฐบาลก็จะไม่สนใจให้งบประมาณ

ปีนี้เชียงใหม่เล่นน้ำสงกรานต์แบบฉ่ำๆ ใหญ่ๆ แน่นอน ตามนโยบาย soft power ของรัฐบาล มีอุโมงค์น้ำท่าแพ ยาวกว่า 200 เมตร พร้อมแสงสี และดนตรีแบบจัดเต็ม ดีที่มีฝนลงทำฝุ่นลด ไม่งั้นคนเที่ยวน้อย และอุโมงค์น้ำเป็นที่หลบ PM2.5 ได้ แต่ข่าวว่า น้ำคลองเชียงใหม่สกปรก ต้องถ่ายน้ำใหม่เข้ามาเพื่อความสะอาด คูเมืองก็ไม่น่าลงเล่น อาจเจอไฟดูด แต่จะพยายามแก้ไขทำให้เสร็จภายในวันที่ 12 เมษายน 2567

ที่จ.ตาก ฝนตกมา 2 วันแล้ว (9-10 เมษายน 2567) ทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสขึ้น ที่อิสานก็มีฝนตกบ้าง

การเปลี่ยนแผนมาจัดงานสงกรานต์บันเทิงล่อใจนัยว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตามข่าว คือรัฐบาลจัดสงกรานต์ทั่วประเทศ 1-21 เมษายน 2567 แต่ เชียงใหม่บอกว่าจะจัดทั้งเดือน แต่อุโมงค์น้ำท่าแพ ณ วันที่ 10 เมษายน 2567 ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะตามข่าวไฮไลต์งานสงกรานต์เชียงใหม่ คือวันที่ 7-17 เมษายน 2567

ข้อมูลจากดาวเทียมการใช้พื้นที่การเกษตร

กรีนพีซร่วมกันกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำข้อมูลจากดาวเทียม คือวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่ 3 ประเทศ มีภาคเหนือตอนบนของไทย รัฐฉาน และ สปป.ลาว ตอนเหนือ โดยเอาข้อมูล 3 ประเภท คือ จุดความร้อน (Burn Scar) คือพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งพื้นที่ปลูกข้าวโพดและพื้นที่ป่า นำความเข้มข้นของ PM2.5 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากป่าไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาวิเคราะห์ กรีนพีซตั้งสมมติฐานว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการหายไปของพื้นที่ป่าในภาคเหนือตอนบนของไทยอย่างไร โดยได้ใช้ข้อมูลการวิเคราะห์พื้นที่ทางภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี 2545-2565 จากคำฟ้องคดีศาลปกครองเมื่อปี 2565 บรรยายฟ้องของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทยกับพวกระบุว่า สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ช่วงปี 2557-2563 พบว่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคเหนือของไทยมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนไทยต้องประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 8 ปีแล้ว คือมองว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ ซึ่งคาดปี 2567 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.4 ล้านตันจากเพื่อนบ้าน เพิ่ม 5.2% แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ไทยมีความต้องการใช้อาหารสัตว์ เฉลี่ยปีละ 20 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่และสุกร ไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เองราว 4-5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไทยนำเข้ามา คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของปริมาณการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด และเป็นการนำเข้าจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา (CLM) เกือบ 100% โดยเฉพาะเมียนมาที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 93% แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย (ปี 2545-2565) ทำให้พื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบนของไทยมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า) 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าราว 9 ล้านไร่ มาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเพื่อขยายการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 คนในปี 2564 อันเนื่องมาจากมลพิษ PM2.5 ในจังหวัดต่างๆ

ที่จริงเค้าลางหนักๆ ในการแก้ไขปัญหามาจากผลคดีปกครองจากคดีฟ้องทะลุฝุ่น 4 คำขอท้ายคำฟ้อง (29 สิงหาคม 2566) หรือคดีที่เครือข่ายภาคประชาชนฟ้อง 3 องค์กรรัฐ (บอร์ดสิ่งแวดล้อมชาติ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม) กรณี “ละเลย-ล่าช้า” แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่น PM2.5 เมื่อปี 2565 คำฟ้องระบุถึง ความสำเร็จของหลายประเทศในการควบคุมฝุ่น PM2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการปล่อยมลพิษทางอากาศหลัก (PM2.5, PM10, SO2, NOx, VOCs) ให้ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการออกแบบระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนาน และพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ต่อยอดจากฐานทางกฎหมายที่เข้มแข็งรวมถึง (1) กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) (2) กฎหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน (3) กฎหมายกำหนด ‘แนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone) และ (4) การใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการเฉพาะหน้าและระยะสั้นของรัฐแทบจะนับไม่ถ้วนเพื่อต่อกรกับฝุ่น PM2.5 จะเป็นเพียงการขี่ช้างจับตั๊กแตน หากไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ที่นำพาสังคมออกจากวิกฤตมลพิษทางอากาศ โดยเงื่อนไขแรกที่จำเป็นคือการกำหนดมาตรฐานเพื่อลดและควบคุมการระบายฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด

คำขอท้ายฟ้องในคดีฟ้องทะลุฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ

ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกหรือแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล(WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมมลพิษฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำเนิดอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ออกสู่สิ่งแวดล้อม ตาม มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณ ของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษ หรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ.2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบ การปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้

การซื้อเวลาในการแก้ไขปัญหาฝุ่นหมอกควันพิษไปเรื่อยๆ น่าจะมิใช่ทางออกที่ดี ภาครัฐต้องมีกลยุทธ์นโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาไว้ มิใช่การแก้หน้าให้รอดไปวันๆ