คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดปีนี้ของ “ศูนย์ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน”ได้ออกมาเปิดเผยว่า นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ตะวันออกกลางเป็นจุดที่การบ้านการเมืองมีความผันผวนมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิสราเอล ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามและยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากกองกำลังติดอาวุธต่างๆ เช่น “กลุ่มฮามาส”และฮิซบอลเลาะห์
โดยเฉพาะปีนี้ปรากฏว่า ความขัดแย้งได้เกิดปะทุขึ้นมาในภูมิภาคในตะวันออกกลางถึง 10 ครั้ง ด้วยกัน ที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลต้องเผชิญกับการซุ่มโจมตีจากกลุ่มฮามาส และทางตอนเหนือก็ต้องถูกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์แอบซุ่มโจมตีด้วยเช่นกัน!!!
ทั้งนี้ความขัดแย้งของอิสราเอสที่มีกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551และถือได้ว่าความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกๆปี อาทิในปี 2555, 2557, 2561, 2564, และเมื่อปีกลายในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาสก็ได้เปิดฉากโจมตีชาวยิวที่ถือเป็นครั้งที่อันตรายมากที่สุด โดยครั้งนั้นอิสราเอลทำการตอบโต้และทำการสังหารชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 33,000 คนในช่วงหกเดือน ตามมาด้วยการทำลายล้างอาคารบ้านเรือนในแถบฉนวนกาซาไปมากเกินกว่าครึ่ง
อนึ่งในช่วงสามปีกว่าๆที่ผ่านมานี้ แทบไม่มีครั้งใดเลยที่อนาคตทางการเมืองของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” จะเข้าไปอยู่ในขั้นเสี่ยงต่ออันตรายที่สืบเนื่องมาจากปัญหาในตะวันออกกลางที่มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอลเหมือนดั่งเช่นขณะนี้
ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเผชิญทั้งศึกภายนอกและศึกภายในประเทศที่ถาโถมเข้ามาพร้อมๆกันหลายๆเรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของเขาแทบทั้งสิ้น!!
อย่างไรก็ตามเรื่องที่ถือว่าสำคัญที่สุดก็คือ เรื่องปัญหาที่กำลังเกิดวิกฤติในแถบตะวันออกกลางที่ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิสราเอล และอาจจะกลายเป็นตัวชี้ขาดถึงโอกาสที่เขาจะได้เข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งหรือไม่?
สำหรับการพูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับ “นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู” ของอิสราเอลเป็นเวลานานกว่าสามสิบนาที ซึ่งเป็นการเจรจาพูดคุยที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ความขัดแย้งบูดบึ้งต่อกันระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่าย สืบเนื่องมาจากปัญหาสงครามที่กำลังเกิดวิกฤติรุนแรงในฉนวนกาซา โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เอ่ยปากกล่าวประณามการสังหารเจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาทุกข์ 7 คนในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา
อนึ่งกลุ่มอาสาสมัครบรรเทาทุกข์กลุ่มนี้มาจาก “องค์การ World Central Kitchen” โดยมี “โฮเซ แอนเดรส” ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ ซึ่งการสังหารที่อิสราเอลสังหารกลุ่มพลเรือนอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ก่อตั้งและบรรดาสมาชิกในองค์กรเป็นอย่างมาก
อนึ่งเหตุการณ์เลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นมานี้ แม้กระทั่ง “นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก”แห่งสหราชอาณาจักร ก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจถึงกับออกมากล่าวว่า “เป็นสถานการณ์ที่รับไม่ได้” และนายกรัฐมนตรีอังกฤษยังแสดงท่าทีที่ต้องการจะถอยฉากไม่ต้องการที่จะสนับสนุนอิสราเอลอีกต่อไป
อีกทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังได้กล่าวเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูเพิ่มเส้นทางความช่วยเหลือ และให้ความคุ้มครองกลุ่มพลเรือนมากขึ้น โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนตั้งเงื่อนไขว่า หากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่ยอมปฏิบัติตามสหรัฐฯก็อาจจะตั้งเงื่อนไขต่อความช่วยเหลือที่จะมีให้แก่อิสราเอลด้วยเช่นกัน
อนึ่งการตั้งเงื่อนไขของประธานาธิบดีโจ ไบเดนต่อนายกรัฐมนตรีอิสราเอลนั้น ถือได้ว่าเป็นไปตามกระแสความต้องการของทั้งชาวอเมริกันและชาวโลก
ทั้งนี้การเรียกร้องของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่มีต่อนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู นับเป็นคำพูดที่เฉียบขาดที่สุดนับตั้งแต่สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลเริ่มวิบัติขึ้นเมื่อหกเดือนก่อน และหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอ่ยปากตั้งเงื่อนไข ปรากฏว่าอิสราเอลยอมปฏิบัติตามเพื่อต้องการลดความตึงเครียดที่จะมีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูเสมอมานั่นเอง!!!
อย่างไรก็ตามสหรัฐฯเพิ่งอนุมัติที่จะโอนอาวุธวางระเบิดมากกว่า 2,000 ลูกให้กับอิสราเอล (ก่อนหน้าที่จะเกิดการสังหารเจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาทุกข์ทั้ง 7 คน)
นอกจากนั้นแล้วสหรัฐฯก็กำลังดำเนินการอนุมัติการขายเครื่องบินรบ F-15 ให้แก่อิสราเอลในมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ส่วนกรณีที่อิสราเอลทิ้งระเบิดที่สถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ มีผลทำให้อิหร่านเดือดดาลออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า “จะต้องมีการตอบโต้อย่างแน่นอน และหากอิสราเอลคิดว่าอิหร่านเป็นแค่เพียงเสือกระดาษ นับว่าอิสราเอลคิดผิดถนัด”
และหากมีการแก้แค้นเกิดขึ้น แน่นอนว่าย่อมจะทำให้สถานการณ์บานปลายที่อาจจะกลายเป็นชนวนจุดให้เกิดสงครามครั้งร้ายแรงจนแพร่กระจายขยายไปทั่วทุกมุมโลก
โดยปกติแล้ว “สถานทูต” ถือเป็นสถานที่ที่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ และตามประมวลในอนุสัญญาเวียนนากล่าวเอาไว้ด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต พ.ศ. 2504 ว่า “สถานทูตเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ใครก็ไม่สามารถจะเข้าไปรุกรานละเมิดได้…” และขณะนี้ในสหรัฐฯยังมีกระแสข่าวประโคมออกมาอย่างแพร่หลายแทบทุกๆวันว่า ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้อิหร่านจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการที่อิสราเอลโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรีย
และขณะนี้ทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯต่างกำลังวางแผนเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือจากการที่อิหร่านออกมากล่าวประกาศต้องการที่จะชำระความแค้นดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วิตกกังวลเกรงกลัวว่าอาจจะก่อให้เกิดสงครามในตะวันออกกลาง ทั้งๆที่เขาพยายามที่จะกีดกันและหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ดำเนินมากว่าหกเดือนและมียอดของผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วกว่า 33,300 คน แถมยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติลงเมื่อใด แต่กลับทวีความรุนแรงในเรื่องที่อิหร่านเตรียมจะแก้แค้นต่ออิสราเอลและต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะกลายเป็นสงครามใหญ่ในตะวันออกกลางที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออิสราเอลและอาจจะสร้างความหวาดผวาให้แก่คนอเมริกันจนมีผลกระทบกับอนาคตทางการเมืองของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ถือว่าขณะนี้เขากำลังเดินอยู่บนทางขรุขระเต็มไปด้วยหินและกรวดระคายเท้ากว่าจะก้าวเข้าไปสู่ทำเนียบขาวในสมัยที่สองละครับ