สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเรียกว่า “พิมพ์อกครุฑ” แต่ถ้าเขียนต้องเขียนพระนามให้ครบ จะมีพุทธลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ เศียรขององค์พระประธานจะมีลักษณะโตและกลมคล้าย ‘บาตรพระ’ พระวรกายล่ำสัน ใหญ่ และหนามาก โดยเฉพาะบริเวณพระอุระจะโตผึ่งผายคล้าย ‘อกพญาครุฑ’ จึงนำมาเรียกชื่อพิมพ์
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑ
- ศิลปะแม่พิมพ์จะลึกและคมชัดกว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
- เส้นซุ้มครอบแก้วเรียวเล็กกว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์อื่นๆ
- เส้นซุ้มครอบแก้วด้านขวามือขององค์พระจะเลี้ยวเข้าหาฐานชั้นที่ 1 ส่วนด้านซ้ายจะห่าง
- ไม่มีขอบบังคับแม่พิมพ์ทั้งสี่ด้าน และจะมีระยะห่างจากซุ้มครอบแก้วมากกว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมทุกพิมพ์ พื้นที่ระหว่างซุ้มครอบแก้วถึงขอบตัดขององค์พระจึงมีมากกว่า
- พระเกศสั้น เป็นลักษณะบัวตูม
- พระกรรณทั้งสองข้างเป็นรูปบายศรี
- องค์พระจะมีความหนามากกว่าทุกพิมพ์ แต่จะใกล้เคียงกับ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์
- พระอังสา (บ่า) ด้านซ้ายขององค์พระจะสูงกว่าและเอียงลาดไปทางพระอังสา (บ่า) ด้านขวา
- พระพาหา (แขน) ด้านขวาขององค์พระโค้งห่างจากพระวรกาย ส่วนด้านซ้ายจะสอบชิดพระวรกาย
- พระชานุ (เข่า) ด้านซ้ายขององค์พระจะงอนเชิดขึ้นหาพระพาหามากกว่าด้านขวา
- ตรงกลางฐานชั้นที่ 3 และ 2 มีรอยยุบตัว ลักษณะเหมือนฐานใหญ่รองรับฐานเล็ก
- ในพิมพ์ที่ติดชัด หัวฐานชั้นที่ 2 ด้านขวามือขององค์พระเกือบจะติดกับเส้นซุ้มครอบแก้ว
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร จะแบ่งย่อยออกเป็น 4 พิมพ์ คือ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร พิมพ์ใหญ่ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร พิมพ์กลาง พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร พิมพ์เล็ก และ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร พิมพ์แขนหักศอก หรือ พิมพ์ว่าวจุฬา
ส่วนพิมพ์ด้านหลังมี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังเรียบ และ พิมพ์หลังรอยเสี้ยน ด้วยข้อสังเกตดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น ก็พอจะเป็นหลักเบื้องต้นในการแยกแยะและพิจารณาพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่ง ครับผม