ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ชาติไม่มีตัวตนจะชังทำไม ชังชาติคือชังใครที่สร้างชาติและมีอำนาจในชาติ !

ภัสรินทร์เข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ตั้งใจไว้ แม้จะไม่ใช่คณะที่พ่อแม่ต้องการ แต่ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่เธอมุ่งหวัง คือหวังว่าจะได้มาเจอ “ผู้ร่วมอุดมการณ์” อย่างที่เธอคิดฝัน เมื่อพ่อกับแม่ถามว่าแล้วจะทำอาชีพอะไรหลังจากจบในคณะนี้ เธอก็ตอบว่าก็ทำอะไรก็ได้ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น กว้างกว่าที่อยู่ในบ้านหรือเรียนในโรงเรียนมัธยม เพราะมหาวิทยาลัยให้อิสรเสรีและทุกคนสามารถทำได้ตามที่ใฝ่ฝัน

ภัสรินทร์สามารถกลับบ้านได้ถึงค่ำ ๆ ยิ่งเธอมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบกิจกรรมเดียวกันและกลับบ้านทางเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้เธอกลับบ้านได้ตามสบายโดยที่พ่อกับแม่ไม่เป็นห่วงมากนัก เพราะเป็นเพื่อนผู้หญิงและพ่อกับแม่ก็รู้จักบ้านของเพื่อนคนนี้ด้วย ซึ่งบางทีเธอก็ไปแวะค้างคืนที่บ้านเพื่อนคนนี้ เพียงแค่โทรหรือไลน์มาบอกแม่และพ่อคนใดก็ได้ นอกจากนั้นการไปต่างจังหวัดยังเป็นสิ่งที่ภัสรินทร์ชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะสมัยที่เธอเป็นเด็กนักเรียนแม้กระทั่งโตเป็นสาวอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว พ่อกับแม่ก็ไม่ค่อยชอบให้ไปไหนมาไหนไกลนักกับทางโรงเรียน เว้นแต่จะมีพ่อแม่ไปด้วยหรือไปแบบเช้าไปเย็นกลับ

ภัสรินทร์ชอบเข้าห้องฟังเลกเชอร์เป็นประจำเช่นกัน โดยเฉพาะในห้องที่สอนโดยอาจารย์คนรุ่นใหม่ ซึ่งบางคนก็เป็นไอดอลของนิสิตหลาย ๆ คน คนหนึ่งเป็นผู้ชายที่สอนวิชาปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ เขาชอบที่จะกล่าวถึงนักปรัชญาชาวกรีกบางคนอยู่เป็นประจำ แต่ที่ภัสรินทร์ชอบฟังมากก็คือเมื่ออาจารย์ท่านนี้พูดถึงนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่เธอจำได้ 2-3 คน รวมถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่อาจารย์ผู้นี้ชอบอธิบายความเชิงเปรียบเทียบกับสังคมไทย โดยเฉพาะความเป็นศักดินาและความ “อหังการ” ของกษัตริย์และผู้ใกล้ชิด อาจารย์เชื่อมโยงเปรียบให้เห็นกับการเปลี่ยนแปลงของระบอบกษัตริย์มาเป็นประชาธิปไตยในอังกฤษ ที่กษัตริย์อังกฤษมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับความต้องการของคนอังกฤษได้เป็นอย่างดี จึงทำให้สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษจึงยังคงสามารถอยู่ร่วมกันมาได้กับคนอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่กษัตริย์ฝรั่งเศส “ไม่เห็นหัว” ประชาชน ในขณะที่ประชาชนกินอยู่อย่างแร้นแค้น แต่กษัตริย์และขุนนางกลับอยู่อย่างสุขสบาย ทั้งยังสร้างพระราชวังใหญ่โตและมีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย ที่สุดกษัตริย์และขุนนางเหล่านั้นก็ถูกโค่นล้มและถูกสังหาร

อีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์ผู้หญิง ที่มีชื่อเสียงว่าเป็น “นักวิชาการเพื่อคนชายขอบ” เธอมีงานวิชาการเกี่ยวกับคนยากจน ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้ด้อยอำนาจ เธอมักจะพูดถึงผลงานเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่ได้เอาผลงานเหล่านั้นมาโอ้อวดจนน่าเบื่อ แต่กลับบรรยายเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ๆ ของผู้คน โดยเฉพาะการที่เธอนำเรื่อง “ลึกลับ” ของผู้มีอำนาจ มาบรรยายสอดแทรกได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็คือเอาเรื่องส่วนตัวของผู้นำเหล่านั้นมา “นินทา” หรือ “ใส่สีตีไข่” จึงทำให้ชั่วโมงเรียนของอาจารย์ผู้นี้มีนิสิตเข้าฟังจนเต็มห้องอยู่เสมอ แต่ที่ทำให้การเรียนเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือการให้นิสิต “ถกแถลง” กันอย่างออกรสชาติถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากข่าวลึกลับเหล่านั้น นั่นก็คือให้นิสิตได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว “อย่างลึกซึ้งและกว้างไกล” ได้ตามจินตนาการ อย่างเช่น ตั้งประเด็นให้ถกแถลงว่า “ถ้าท่านเป็นจอมเผด็จการคนนี้ ท่านจะให้เมียน้อยของตัวเองทำอะไร” หรือ “ถ้าท่านมีเพื่อนดี ๆ ให้ยืมรถโรลส์-รอยซ์มาขับเล่น ท่านจะเขียนในใบแจ้งบัญชีทรัพย์สินว่าอย่างไร” ซึ่งทำให้เกิดเสียงครึกครื้นเฮฮาอยู่โดยตลอด เพราะเต็มไปด้วยคำตอบที่แสบ ๆ คัน ๆ หรือแม้กระทั่งเลยเถิดออกไป อาจารย์ก็จะตบมือชื่นชมพร้อมกับบอกว่า “นี่คือเสรีภาพทางวิชาการ”

กิจกรรมที่ชาวมหาวิทยาลัยชอบมากอีกอย่างหนึ่งก็คือการตั้ง “กลุ่มพูดคุย” ในโซเชียลมีเดีย ทั้งในเฟสบุ๊คและไลน์ เริ่มต้นก็เป็นกลุ่มที่คุยกันเพื่อ “ติว” หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ไปค้นคว้ามา เพื่อทำรายงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานและการบ้านที่อาจารย์มอบหมายให้ทำ แต่ก็ “แอบ” มีการสนทนาพูดคุยในหัวข้อที่แต่ละคนสนใจ อย่างภัสรินทร์ก็ชอบฟังเรื่องของประวัติศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย โดยในเฟซบุ๊กจะมีเรื่องราวที่ “น่าทึ่ง” เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เธอไม่เคยได้อ่านหรือได้ยินที่ไหนมาก่อน บางคนก็อ้างว่าเป็นข้อมูลจาก “อาจารย์คนโน้นคนนี้” หรือบางคนก็อ้างแหล่งข้อมูลที่ดูน่าเชื่อถือ และบางทีก็มีการตัดต่อและเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านั้นออกไปมากมาย จนหลาย ๆ ครั้งก็แยกไม่ออกว่าเรื่องนั้นจริงหรือปลอม แต่ด้วยความที่ยิ่งดูก็ยิ่งเพลิน ยิ่งติดตามก็ยิ่งมีส่งมามากขึ้น ๆ บางทีเพียงแค่เปิดหน้าจอมือถือหรือโน้ตบุ๊กขึ้นมา คลิปและข้อความข่าวสารเหล่านี้ก็แจ้งเตือนขึ้นมารัว ๆ ไม่หยุดไม่หย่อน

แม้เธอจะรู้ว่าคลิปและข่าวสารเหล่านั้นจะทำมาเพื่อการโน้มน้าว “ให้เชื่อ” อะไรบางอย่าง แต่เธอก็คิดว่ามันต้องเบื้องหลังมีที่มาที่ไป และนั่นก็คือสิ่งที่เธอชอบนำไป “ถกแถลง” เป็นการส่วนตัวกับกลุ่มเพื่อนและอาจารย์บางคน รวมถึงนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ รวมกระทั่งถึง “ชาวบ้าน” และคนอื่น ๆ ที่มากดไลก์กดแชร์และร่วมกัน “เม้นท์” ให้ความคิดเห็น เพราะนั่นได้ทำให้เธอรู้ว่าผู้คนทั้งหลายกำลังคิดอะไรกันและกำลังจะ “ทำ” อะไรกัน นั่นก็คือ “ความเป็นไปของสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย”

จากประวัติศาสตร์ในกลุ่มที่ภัสรินทร์เข้าไปเกี่ยวข้อง พอมองเห็นทิศทางที่สอนกันให้เชื่อให้คิดอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ประเด็นแรกก็คือ สังคมไทยคือสังคมแบบ “ศักดินาประชาธิปไตย” อันเป็น “รากเหง้า” ของทุกปัญหาในประเทศไทย ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในทางสังคมก็คือชีวิตความเป็นอยู่แบบ “ผู้ใหญ่ - ผู้น้อย” ระบบเส้นสาย ความอยุติธรรม และพวกศรีธนญชัย ในทางเศรษฐกิจก็คือระบบทุนสามานย์ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การเอาเปรียบในทางค้าขาย และความเหลื่อมล้ำ “รวย -จน” ส่วนในทางการเมืองก็คือระบบเจ้าขุนมูลนาย อภิสิทธิ์ชน อำนาจนิยม เผด็จการนิยม และการประจบสอพลอ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่เป็น “ทางแก้” ของปัญหาข้างต้น ก็คือ “การปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสถาบันบางสถาบัน” ที่สร้างปัญหาเหล่านั้นให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะสถาบันที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือกษัตริย์กับทหาร แม้ว่าทหารจะเป็นผู้กระทำการหรือมีอำนาจในทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เหนือกว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทหารก็สามารถอ้างความชอบธรรมต่าง ๆ เข้ามายึดอำนาจได้เสมอ รวมถึงข้ออ้างเรื่องความล้มเหลวที่เกิดจากการกระทำของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็เท่ากับว่าโยนความผิดให้กับประชาชนที่เลือกคนเหล่านั้นมา อันเหมารวมว่าประชาชนนั้นโง่เง่าที่เลือกคนชั่ว ๆ เหล่านั้นเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้ในกลุ่มโซเชียลที่ภัสรินทร์แลกเปลี่ยนความเห็นอยู่ด้วย มองแบบ “พุ่งเป้า” ไปเลยว่าเป็นเพราะทหารแอบอ้างกษัตริย์เพื่อล้มล้างประชาธิปไตย จนถึงขั้นที่เชื่อว่ามีการ “สมคบคิด” กัน

ภัสรินทร์ชอบคุยเรื่องเหล่านี้ในโซเชียลจนกระทั่งมาถูกจับในตอนที่เธอเพิ่งรับปริญญาไปหมาด ๆ ซึ่งในความคิดของเธอก็คิดว่ามันเป็น “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็น และยิ่งในกลุ่มของเธอมีนักวิชาการรวมทั้งครูบาอาจารย์ร่วมกันอยู่ก็หลายคน จึงทำให้เชื่อว่านี่อาจจะเป็น “เสรีภาพทางวิชาการ” อีกด้วย แต่เธอก็ลืมคิดไปว่าความคิดเห็นที่เธอและพวกร่วมแสดงออกกันเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่อง “สาธารณะ” โดยมีประชาชนอื่น ๆ ต้องมารับรู้รับเห็นด้วย และนี่ก็คือระบบ “นิติรัฐ” ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพียงแต่ว่ากฎหมายทั้งหมดเขียนโดยผู้มีอำนาจ และเผอิญผู้มีอำนาจนั้นก็อยู่ในฝ่ายที่พวกประชาธิปไตยเรียกว่า “ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามประชาชน”

คดีความนี้คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อใด ?