นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยคืบหน้างานก่อสร้างโครงการอุโมงค์บึงหนองบอนว่า จากการลงพื้นที่ติดตาม ได้รับรายงานจากทีมผู้ก่อสร้างว่า จะเริ่มเจาะอุโมงค์ใหม่ทดแทนของเดิมที่เสียหายได้ประมาณเดือน มิ.ย.นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเศษดินที่ทะลักภายในอุโมงค์ส่วนที่เสียหายออก ดำเนินการแล้วประมาณร้อยละ 70 ทั้งนี้ โครงการอุโมงค์บึงหนองบอนมีความสำคัญ ทำหน้าที่รับน้ำจากบึงหนองบอนระบายสู่บางนา บรรเทาน้ำท่วมย่านซอยสุขุมวิท 101/1 แต่เนื่องจากอุโมงค์เกิดความเสียหาย ทำให้ต้องปรับแผนป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังต้องปิดช่องจราจรบริเวณสะพานข้ามคลองเคล็ด จาก 4 เหลือ 2 ช่องจราจร เพื่อแก้ไขเพิ่มความแข็งแรงของสภาพดินก่อนขุดเจาะอุโมงค์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด เปิดช่องจราจรครบตามปกติได้ประมาณเดือน ธ.ค.68
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า คาดว่าจะนำดินออกจากอุโมงค์แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เมื่อนำดินในอุโมงค์ส่วนที่เสียหายออกทั้งหมดแล้ว จะต้องออกแบบอุปกรณ์ปิดอุโมงค์ปล่องที่ 3 บริเวณคลองเคล็ด ซึ่งเป็นส่วนที่เสียหาย เพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับระหว่างเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้ มีการขุดดินลึกประมาณ 30 เมตร เพื่อสร้างปล่องหรือช่องรับน้ำก่อนระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะเป็นอุโมงค์ลึกใต้ดิน จำนวน 8 ปล่อง โดยแต่ละปล่องมีทางอุโมงค์ลำเลียงน้ำเชื่อมต่อกัน จุดที่มีปัญหาคือ ระหว่างทางเชื่อมช่องรับน้ำปล่องที่ 2 ถึง 3 ระยะทางประมาณ 100 เมตร โดยเฉพาะปล่องที่ 3 อยู่บริเวณสะพานข้ามคลองเคล็ด เกิดความเสียหายเนื่องจากมีดินทะลักเข้าไปในปล่อง ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขโดยทีมก่อสร้าง ทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาสำคัญคือความลึกของอุโมงค์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไข ก่อให้เกิดความล่าช้า เบื้องต้นมีแผนเจาะอุโมงค์ระยะปล่องที่ 2-3 ใหม่ ที่ความลึกประมาณ 24 เมตร ตามแนวอุโมงค์เดิม ซึ่งได้รับความเสียหายดินทะลักไปถึงอุโมค์ที่ 4-5
ทั้งนี้ การนำดินในอุโมงค์ออกทั้งหมด จำเป็นต้องปิดช่องการจราจรบริเวณตรงข้ามซอยอุดมสุข 42 ถึง 56 จาก 4 ช่องจราจรเหลือ 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) คาดว่าจะเปิดการจราจรส่วนนี้ได้เดือน มิ.ย.นี้
นายชัชชาติ กล่าวว่า โครงการอุโมงค์บึงหนองบอนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสมัยตนเป็นผู้ว่าฯกทม. อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนป้องกันน้ำท่วมก่อนจะเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เช่น การขุดลอกคลอง การติดตามงานก่อสร้างในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม เช่น ซอยรามคำแหง 24 ซอยสุขุมวิท 101/1 ซอยอุดมสุข เป็นต้น รวมถึงติดตามความพร้อมของประตูระบายน้ำ การเพิ่มปั้มสูบน้ำในจุดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เช่น ย่านลาดพร้าว ซึ่งมีการยกพื้นถนน เป็นต้น