ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : สงกรานต์ไทยปีนี้มีความพิเศษ นั่นคือเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
หลังจากที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้ดำเนินการเสนอขึ้นทะเบียนรายการนี้ประเทศเดียว ได้จัดงานเฉลิมฉลอง ด้วยเหตุนี้สงกรานต์ไทยปีนี้จึงมีความพิเศษตามที่ว่ามาข้างต้น
สงกรานต์ไทย เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน แตกต่างกันตามความเชื่อและแนวปฏิบัติของคนไทยแต่ละภูมิภาค คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่ราศีหนึ่ง ช่วงเวลา สงกรานต์ของไทย เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนั้น จึงเป็นประเพณีการฉลองขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ โดยทั่วไปมีกำหนด 3 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา เป็นวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่ และต่อมามีการประกาศให้เป็นวันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว
ประเพณีสงกรานต์ไทย เป็นช่วงเวลาของการแสดงความกตัญญูและผู้มีพระคุณ การแสดงความเอื้ออาทรต่อครอบครัว ญาติมิตร และชุมชน โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อ กิจกรรมหลักๆ ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ ขนทรายเข้าวัด สาดน้ำ ตลอดจนกิจกรรมรื่นเริง ิจกรรมหลักๆ เช่น ่ที่้เป็นม่ การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น
เทศกาลสงกรานต์ไทย ประจำปี 2567 รัฐบาลโดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงร่วมกันจัดงานภายใต้ธีม “Maha Songkran World Water Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” มีการจัดกิจกรรมทั้งในกรุงเทพฯ ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จัดให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน ระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยได้ร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้
ด้านวธ.จัดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรม 6 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ และชลบุรี มุ่งเน้นการเผยแพร่คุณค่าสาระของสงกรานต์ไทย นำอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ประจำจังหวัด หรือประจำภูมิภาค หรือพื้นที่นั้นๆ มาสร้างสรรค์ นำเสนอให้มีความยิ่งใหญ่ ความสนุกสนานรื่นเริง รวมถึงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามเอาไว้ ในส่วนกรุงเทพฯ จัดงบร่วมสนับสนุน 50 เขต ยังเพิ่มอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ สีลม และสยามสแควร์ โดยกิจกรรมหลักจัดที่วัดสุทัศน์เทพวราราม อนุรักษ์ สืบสานประเพณี ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว ก่อเจดีย์ทราย และชวนคนไทยแต่งกายผ้าไทย ใส่เสื้อลายดอก ใช้น้ำสะอาดเล่นสาดน้ำ งดใช้แป้ง สี อุปกรณ์ฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่ลวนลามผู้หญิง-ผู้ชาย (ภาพประกอบ สวธ.)
ด้านสวธ. จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 12 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน บาฮาซา(อินโดนีเซีย) พม่า ฮินดี(อินเดีย) ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับรู้เข้าใจคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ไทย โดยเข้าไปดาวน์โหลดเพลงและข้อมูลประเพณีได้ที่ www.culture.go.th / เฟซบุ๊กเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เทศกาลสงกรานต์ไทย เริ่ม 13 เมษายน บางท้องถิ่นจัดวันไหลตามวิถีประเพณี อย่างไรก็ดีร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของประเทศไทย เพื่อยกระดับสงกรานต์ไทยไปสู่สายตาคนทั่วโลก ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เกิดความประทับใจ ขอให้สนุกสนานสงกรานต์ไทย มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ