เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดพิพิธภัณฑ์หอศิลป์กาฬสินธุ์โชว์ผลงานศิลปะรังสรรค์โดยคณาจารย์นิสิตปริญญาโท ทั้งชาวไทยและชาวจีนในการสะท้อนแนวคิดจิตนาการจากสุนทรียภาพนำเสนอต่อสาธารณชน

ที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป์กาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิด การแสดงผลงานสร้างสรรค์วิทยานิพนธ์ ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ทัศนศิลป์ ปีการศึกษา 2566 ของคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี พ.ต.อ.กีรติกร อมรพัฒน์ภาคิน รอง.ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นางศิรดา มาลาสาย วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ รศ.จิรพันธ์ ห้วยแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นางสุภาพร เกียรติดำเนินงาม เลขานุการ อบจ.กาฬสินธุ์ ได้รับมอบหมายจาก นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ พัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย คณะกรรมขับเคลื่อนนโยบายการบริหารงานพิพิธภัณฑ์หอศิลป์กาฬสินธุ์ ผศ.ดร.อดุลย์ บุญฉ่ำ ประธานหลักสูตร ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนิสิตหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมเปิดการแสดงผลงานสร้างสรรค์วิทยานิพนธ์ ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ทัศนศิลป์ ปีการศึกษา 2566

นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การแสดงผลงานสร้างสรรค์วิทยานิพนธ์ ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ทัศนศิลป์ ปีการศึกษา 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ในรายวิชาวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นผลลัพธ์ในขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ผลงานเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ของผลการเรียนรู้ที่คาดหวังอันเกิดจากความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้า อันสะท้อนความคิดและจิตนาการในด้านสุนทรียภาพที่มานำเสนอต่อสาธารณชน พร้อมกับการสร้างความร่วมมือสร้างเครือข่ายและเผยแพร่ผลงานของศิลปิน ทั้งนี้ พร้อมเป็นสถานที่ให้คณาจารย์และนักศึกษาได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะ ซึ่งมีนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดแสดงในมิติศิลปกรรมร่วมสมัย ที่มีความหลากหลายให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนที่นำเสนอจินตนาการให้ออกมาในรูปแบบของงานศิลปะ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์หอศิลป์กาฬสินธุ์ให้เป็นที่อีกสถานที่หนึ่งที่เล็กเห็นความสำคัญของศิลปะเป็นเชื่อมโยงมิติด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพื่อใช้ศิลปะนำการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ต่อไป