“พาณิชย์” เดินหน้าลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน จัดงานธงฟ้าราคาประหยัด จ.สมุทรปราการ นำสินค้าจากผู้ประกอบการ ห้าง เกษตรกร SMEs วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายธุรกิจ Biz Club และเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer รวม 10 หมวดสินค้า กว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60% เผยมีสินค้าไฮไลต์ ทั้งไข่ไก่ น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ข้าวหอมมะลิ หมูเนื้อแดง ไก่ มะม่วงและมะนาว จำหน่ายทุกวันด้วย
วันที่ 11 เม.ย.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบให้ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายยรรยง พวงราช) ร่วมงานธงฟ้าราคาประหยัด จังหวัดสมุทรปราการ ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้นำนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยลดภาระค่าครองชีพมาขับเคลื่อน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า กลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตรายกลางและรายย่อย (SMEs) วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายธุรกิจ Biz Club และเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) รวมทั้งผู้ประกอบการจังหวัดสมุทรปราการ นำสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายรวม 10 หมวด กว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60% อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซอสปรุงรส น้ำยาซักผ้า ของใช้ประจำวัน เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว อุปกรณ์ช่าง สินค้าชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจำหน่ายสินค้าไฮไลต์ และสินค้าผลไม้ที่เชื่อมโยงจากกลุ่มเกษตรกร ในราคาพิเศษทุกวัน อาทิ ไข่ไก่เบอร์ 2 แผงละ 95 บาท น้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 22 บาท น้ำมันพืชปาล์ม ขวดละ 40 บาทข้าวหอมมะลิสุรินทร์ (5 กก.) ถุงละ 150 บาท หมูเนื้อแดง กิโลกรัมละ 90 บาท ไก่น่องสะโพก กิโลกรัมละ 60 บาท
มะนาว ลูกละ 3 บาท มะม่วงน้ำดอกไม้ กิโลกรัมละ 40 บาท มะม่วงฟ้าลั่น กิโลกรัมละ 25 บาท และมะนาวผงถุงละ 20 บาท
“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนใน จ.สมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง มาเลือกซื้อสินค้าราคาประหยัด โดยมีสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพครบถ้วน ทั้งของกินของใช้ และผักผลไม้ตามฤดูกาลจากเกษตรกร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้ตามเป้าหมาย” นายยรรยงกล่าว
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดงานธงฟ้าราคาประหยัด ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายกลางและรายย่อย (SMEs) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายธุรกิจ Biz Club และเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า พัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการส่งเสริมสนับสนุนสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศด้วย