แพทย์ แนะ ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ และพลังงานเหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ และต้องระมัดระวังการลื่นหกล้ม พร้อมป้องกันการพลัดหลงจากระบบความจำที่เสื่อมลง
วันที่ 11 เม.ย.67 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ปริย พรรณเชษฐ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) โดยข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,064,929 คน “อาหาร” จึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ ที่จะทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการกินอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้มีภาวะโภชนาการที่ดี ไม่อ้วนเกินไปหรือผอมเกินไป ป้องกันการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด หรือในผู้ที่ป่วยเป็นโรค NCDs แล้ว ควรกำหนดหรือควบคุมอาหารเพื่อไม่เกิดภาวะการเจ็บป่วยกำเริบจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้
“อาหาร” เป็นโภชนาการหลักของร่างกาย อาทิ โปรตีน และ ไขมัน ส่วนอาหารรอง ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายของคนแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยในกลุ่มผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือ สภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาวะโภชนาการเกิน เกิดจากได้รับสารอาหารมากเกินไป เกิดการสะสมของพลังงาน ไขมัน จนเป็นภาวะโรคอ้วน และ ภาวะทุพโภชนาการ ที่เป็นภาวะขาดสารอาหาร หรือสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดจากกินอาหารได้น้อยลง หรือการเบื่ออาหาร
ผศ.นพ.ปริย ย้ำว่า เนื่องจากผู้สูงอายุ มีกิจกรรมไม่มากเท่ากับวัยอื่นๆ การใช้พลังงานลดลง ออกแรงน้อยลง การเผาผลาญพลังงานลดลง จึงควรกินอาหารให้พอเหมาะ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในดัชนีมวลกายที่เหมาะสม และกินอาหารให้มีปริมาณโปรตีนเพียงพอเพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพราะผู้สูงอายุมวลกล้ามเนื้อน้อยลง ร่างกายจึงต้องการปริมาณโปรตีนที่มากกว่าคนวัยอื่น การเพิ่มโปรตีนจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อน้อยลง โดยปริมาณโปรตีนที่ต้องการคือ 1.0-1.3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรง หรือให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้กำลังถดถอย หากลูกหลานหรือผู้ดูแลห่วงการเกิดอุบัติเหตุ ให้คอยดูแลใกล้ๆ
สำหรับภาวะร่างกายผู้สูงวัย เหงือกและฟันอาจไม่ค่อยสมบูรณ์ รวมทั้งกระเพาะอาหารจะหลั่งกรดย่อยโปรตีนได้น้อยลง การกินโปรตีนอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ควรเลือกกินโปรตีนที่ย่อยง่าย อาทิ เนื้อปลา หรือจะเป็น เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ บดสับละเอียด ต้มตุ๋นจนนุ่ม ให้สามารถย่อยได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ และนม ส่วน ผัก ให้ต้มจนนิ่ม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ 2 ลิตรต่อวัน ยกเว้นในผู้ป่วยที่จำกัดปริมาณน้ำ ควรหลีกเลี่ยง อาหารรสหวานจัด เค็มจัด มันจัด และแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ ยังมีภาวะเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอาหาร เกิดจากภาวะจิตใจ หรือการเปลี่ยนแปลงของกลไกในร่างกาย ต่อมน้ำลายหลั่งได้น้อยลง เหงือกล่น ฟันไม่ครบ มีปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อย จำเป็นต้องระวังภาวะขาดโปรตีนและขาดสารอาหาร เพราะจะทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทบกับความแข็งแรง เรี่ยวแรงน้อยลง แนะนำหาเครื่องดื่มที่มีสารอาหารครบถ้วนทดแทน หรือจะเป็น นม โยเกิร์ต นมสูตรแลคโตสฟรี รวมไปถึง อาหารทางการแพทย์ เพิ่มในระหว่างมื้ออาหาร เติมเต็มในส่วนมื้ออาหารที่กินได้น้อย เพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารครบถ้วน
ทั้งนี้ ข้อควรระวังในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่กล้ามเนื้อน้อย กำลังลดลง ทำให้เกิดการทรงตัวไม่ดี หกล้มได้ง่าย หากล้มกระดูกหัก จำนวน 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะกลับมาปกติ เพราะอีกส่วนหนึ่งอาจร้ายแรงถึงแก่ชีวิตหรือพิการ ดังนั้น จึงควรระวังการลื่น หกล้ม พลัดตก ระวังพื้นภายในบ้าน ในห้องน้ำต้องมีราวจับ และที่สำคัญเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยคือ การพลัดหลง การหายตัวไป ที่เกิดจากความจำไม่ดี เกิดอาการหลงลืม เดินออกจากบ้านไปกลับบ้านเองไม่ได้และหายไป ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรติดริสแบรนด์ (Wristband) ที่มีชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้กับตัวผู้สูงอายุ