วันที่ 11 เม.ย.2567 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ขยายเพดานมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ได้สิทธิการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 3 ล้านเป็น 7 ล้านว่าเป็นการเอื้อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลต้องเลิกหมกมุ่น และตีทุกมาตรการของรัฐบาลเป็นการเอื้อนายทุนได้แล้ว เพราะรัฐบาลมุ่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างผลกระเทือนต่อการเติบโตเศรษฐกิจในวงกว้าง มิได้จำกัดเพียงรายเล็ก รายใหญ่ หรือนายทุนเจ้าใด ซึ่งธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่ามีผลกระทบกับห่วงโซ่การผลิตและการจ้างงานในวงกว้างที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งการขยายเพดานการลดค่าธรรมเนียมไปถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ที่มีสต็อกคงค้างจำนวนมาก
โดยปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยรอการขาย ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2.6 แสนยูนิต โดย 87% เป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์นี้ จะช่วยเร่งแปรสภาพเงินลงทุนที่ถูกแช่แข็งอยู่ในระบบ หรือเงินจมให้กลับมาฟื้นเป็นสภาพคล่อง สามารถเกิดการหมุนเวียนลงทุนต่อและสร้างผลกระเทือนทางเศรษฐกิจได้เพิ่ม หากจะให้ออกมาตรการเพียงเพื่อรองรับสินค้าราคาไม่เกิน 3 ล้านที่มีเหลือค้างอยู่น้อย คงไม่สมเหตุสมผล และอาจถูกวิจารณ์ว่าไม่เข้าใจสภาพตลาดแทน
“ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการออกมาตรการเช่นนี้จะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขาดรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนนั้น ก็ต้องเข้าใจว่ามาตรการนี้คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความคาดหวังของรัฐบาลคือการผ่อนคลายบรรยากาศที่ฝืดเคือง หากไม่มีมาตรการใดๆและสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถขายได้ ท้องถิ่นก็ไม่ได้ค่าธรรมเนียมเช่นกัน การเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อขายที่คล่องตัวขึ้นต่างหาก จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นมา เกิดการลงทุนใหม่ๆ และมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับรัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า รัฐบาลที่เก่ง ต้องมองให้ขาด และมุ่งสร้างการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ เพราะจะสร้างรายได้ใหม่ที่เพิ่มเติมกลับมาให้รัฐ แต่หากมัวแต่หวงแหนผลประโยชน์ระยะสั้น หรือเกรงว่าคนนั้นคนนี้จะได้ประโยชน์แบบที่ฝ่ายค้านตั้งแง่ มาตรการใดๆคงไม่เกิด และประเทศคงเสียโอกาสอีกมากมาย“ นายชนินทร์ กล่าว