"เศรษฐา" นำแถลงรายละเอียดเงื่อนไขแจกเงิน"ดิจิทัลวอลเล็ต" มั่นใจแจกทันไตรมาส4 ยันนโยบาลเรือธงยกระดับเศรษฐกิจประเทศ เชื่อพลิกชีวิตปชช.ได้ ด้าน ปลัดฯคลัง เผยใช้แหล่งเงินจากงบฯปี 2567-68 ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมชง "ครม." ไฟเขียวเดือนเม.ย.นี้

 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นต้น  
 ทั้งนี้ก่อนเริ่มประชุม นายกรัฐมนตรีได้ถามหา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดย นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าฯธปท. ที่เข้าร่วมประชุมแทน แจ้งว่า ผู้ว่าฯ ธปท.ติดภารกิจประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ทำให้นายกฯ บอกว่า "ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวค่อยว่ากัน" จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการประชุม 


     ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายเศรษฐา ได้นำแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ช่วงหนึ่งว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล นโยบายยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฝ่าฟันข้อจำกัด รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ส่งมอบนโยบายพลิกชีวิตประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนร้านค้าจะได้ลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และเงินส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4/2567
 นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบถึงฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ผลตอบแทนทางภาษี เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมพร้อมประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มความโปร่งใสการชำระเงิน


 นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน ก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ความคุ้มค่าจะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6% จากกรณีฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของโครงการ


 "รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด" นายเศรษฐา กล่าว
 ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการที่ออกในวันนี้ ความรู้สึกลึกๆ ของนายกฯ ผิดกับความตั้งใจแรกในตอนหาเสียงอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แน่นอนรัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชนที่คาดว่าที่แรกจะออกต้นปีนี้ แต่ก็เลยไปถึงปลายปี อย่างที่เรียนว่าต้องฟังเสียงของทุกคนที่ให้คำแนะนำ ให้คำเสนอแนะ และพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการต่างๆ มา ต้องมีการทำอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับประชาชน
 สำหรับรายละเอียดของโครงการ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้แถลงต่อไป


 ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของแหล่งเงินที่ต้องนำมาใช้กับวงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถบริหารจัดการในกระบวนการงบประมาณทั้งหมดคืองบฯ 67 กับ 68 แบ่งเป็น 1.งบฯ ปี 68 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท ได้ขยายกรอบงบประมาณแล้ว 2.ผ่านโครงการของรัฐ 1.72 แสนล้านบาท ใช้กลไก ม.28 ของงบฯ ปี 68 ให้ ธกส. ดูแลเกษตรกร 17 ล้านคนเศษ และ 3.งบฯ ปี 67 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท ซึ่งงบฯ ปี 67 เพิ่งเริ่มใช้ ต้องดูว่าจะปรับเปลี่ยนส่วนใดได้บ้าง รวมถึงอาจต้องใช้งบกลาง ซึ่งยืนยันว่าเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง


 ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงเงื่อนไขการใช้เงินในโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ดังนี้ 1.กลุ่มเป้าหมาย ประชาชน 50 ล้านคน คุณสมบัติอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้มีรายได้พึงประเมินเกิน 8.4 แสนบาทของปีภาษี และมีเงินฝากในสถาบันการเงินต่างๆ รวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท  2.เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งเป็น 2.1 ประชาชนกับร้านค้า ให้ใช้ระดับอำเภอ ให้ใช้กับร้านค้าขนาดเล็กที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น 2.2 ร้านค้ากับร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดของร้านค้า
 3.การใช้จ่ายเงิน สามารถใช้ได้หลายรอบ ใช้กับสินค้าได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการและออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดขึ้น 4.จะใช้ผ่านระบบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ผ่านหน่วยงาน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เป็น "ซูเปอร์แอปฯ" ของรัฐบาล พัฒนาใช้ใช้จ่ายกับธนาคารอื่นๆ แบบ Open Loop ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย


 5.ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดได้ ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น 5.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 5.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล 5.3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือก็คือประชาชนผู้ประกอบอาชีพค้าขายที่มีรายได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร ม.40 (8) ทั้งนี้ ร้านค้าจะถอนเงินสดได้ในการใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไปเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริตและเพิ่มผลกระตุ้นเศรษฐกิจ 6.ระยะเวลาโครงการ ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียน ไตรมาส 3/2567 เริ่มใช้ไตรมาส 4/2567


 7.มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ โดยมี รองผบ.ตร. เป็นประธาน มีผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรรมการ นอกจากนั้นยังมีคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีตนเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขรายละเอียด โครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานและประชาสัมพันธ์


 "วันนี้คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบในรายละเอียดทุกประเด็นที่ได้นำเรียน และได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อครม. เพื่อพิจาณาต่อไปภายในเดือน เม.ย. นี้" นายจุลพันธ์ กล่าว