"ปทส."ออกหมายเรียก”เสี่ยโรงงาน”ซุก"กากแคดเมียม" หลังเรียกพบหลายครั้ง แต่บ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ หากไม่มาตามนัดจ่อออกหมายจับ ด้าน"เด็กก้าวไกล"ยันอาหารทะเลมหาชัยปลอดภัย ไร้แคดเมียมเจือปน เผยพื้นที่ห่างกัน-ยังไม่แพร่ออกไปสู่สภาพแวดล้อม จี้หน่วยงานรัฐตรวจสอบโรงงานปล่อยควันส่งกลิ่นเหม็นช่วงเวลากลางคืนเป็นสารอันตรายหรือไม่ ชี้เป็นปัญหาเรื้อรังของประชาชนสมุทรสาครมานาน

 จากกรณีการตรวจยึด "กากแคดเมียม" ซึ่งเป็นสารอันตราย ได้จากภายในโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ก่อนพบว่ามี "กากแคดเมียม" สูญหายไปอีก 15,000 ตัน ก่อนตรวจสอบจนพบการขนส่งไปที่บริษัทแห่งหนึ่ง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และอีกหลายแห่งตามที่เป็นข่าวไปนั้น

 ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. สั่งการให้ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา รองบก.ปทส. พร้อมด้วย พ.ต.อ.อภิสัณฐ์ ไชยรัตน์ ผกก.5.บก.ปทส.และพนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกตัวเจ้าของโรงงานและหุ้นส่วนของบริษัทที่ถูกตรวจยึด"กากแคดเมียม" ได้เป็นแห่งแรกจำนวน 3,040 ตัน

 รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่พยายามติดต่อเจ้าของโรงงานและหุ้นส่วน เพื่อขอให้เดินทางมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการนำ "กากแคดเมียม" มาเก็บไว้ที่โรงงาน และที่อื่นๆ ในจ.สมุทรสาคร กำหนดนัดหมายในวันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย.นี้ เวลา 09:00 น.
 ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า เสี่ยเจ้าของโรงงานนั้นไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งติดต่อประสานไปหลายครั้งแล้ว แต่เจ้าตัวก็พยายามผัดผ่อนมาตลอด โดยมีข้ออ้างต่างๆ กระทั่งตำรวจต้องออกหมายเรียก เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากยังไม่มาก็ต้องออกหมายจับกุม
 สำหรับปริมาณของ "กากแคดเมียม" ที่ผู้ประกอบการในจังหวัดตากได้ยื่นขอนำออกมาไว้ประมาณ 15,000 ตัน มีการตามเจอแล้วใน 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. บริษัทแห่งหนึ่ง ใน ต.บางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 3,040 ตัน 2. โรงงานย่านคลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จำนวน 4,400 ตัน 3. บริษัทแห่งหนึ่ง ใน ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จำนวน 1,034 ตัน ล่าสุดเพิ่งยึดได้จากโกดังแห่งหนึ่งใน อ.กระทุ่มแบน อีก 500 ตัน ส่วนที่เหลือที่ยังต้องติดตามต่อไป

 วันเดียวกัน ที่ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ส.ส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การตรวจคัดกรองประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโรงงานที่พบกากแคดเมียม นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้พบกากแคดเมียมใน จ.สมุทรสาคร ทั้งหมด 3 จุด ที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมือง 2 จุด และ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน 1 จุด จำนวนรวมกว่า 4,474 ตัน จากหลักฐานในขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการหลอมแคดเมียมที่ จ.สมุทรสาคร และไม่พบการปนเปื้อนออกไปภายนอกโรงงาน แต่ข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปกำลังก่อให้เกิดความไม่สบายใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ถึงกับมีการพูดว่าจะไม่กินอาหารทะเลจากมหาชัยเนื่องจากกลัวสารแคดเมียมตกค้าง ซึ่งขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะพื้นที่เกิดเหตุกับพื้นที่มหาชัยอยู่ห่างกันมาก

 "ผมขอยืนยันว่าอาหารทะเลยังทานได้ปกติ เพราะพื้นที่อ่าวไทยและแหล่งอาหารทะเล กับพื้นที่ที่พบกากแคดเมียมอยู่ห่างกันมาก คือแคดเมียมถูกพบที่ ต.บางน้ำจืด 2 จุด และพบที่ ต.คลองมะเดื่อ ล่าสุดอีก 1 จุด ซึ่งข้อมูลที่ได้รับมาจากหน่วยงานรัฐยืนยันว่าแคดเมียมไม่ได้มีการแพร่ออกไปสู่สภาพแวดล้อมนอกโรงงาน ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ แม้ว่าล่าสุดจะมีการตรวจพบปริมาณสารตกค้างในร่างกายของพนักงานโรงงานที่ซอยกองพนันพล แต่คาดว่าเกิดจากการทำงานที่สัมผัสโดยตรงและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสาธารณสุขก็ได้มีการตรวจหาสารแคดเมียมจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบใกล้กับสถานที่ที่พบแคดเมียมด้วยแล้ว" 

 นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องแคดเมียมแล้ว ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลกันมานานว่าโรงหลอมในพื้นที่มักดำเนินการหลอมสารต่างๆ ในช่วงเวลากลางคืน มีการปล่อยควันส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน ซึ่งประชาชนไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่หลอมเป็นสารอันตรายหรือไม่ นี่เป็นปัญหาเรื้อรังและเป็นปัญหาใหญ่ของ จ.สมุทรสาคร มานาน หากเป็นสารอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น ภาครัฐจึงควรใช้โอกาสนี้ตรวจสอบการดำเนินการของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน

 นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีหลายโรงงานที่ไม่สนใจและไม่รับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ แต่ก็มีหลายโรงงานที่ต้องการจะปรับตัว แต่อาจติดเรื่องเงินทุนหรือพื้นที่ในการทำระบบบำบัด สิ่งเหล่านี้ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามารับฟังและหาทางแก้ปัญหา รวมถึงคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะมีแนวนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างไร จะหาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างไร

 "ถึงที่สุดแล้วธุรกิจบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่อนุญาตให้ทำ หรือหากจะทำต้องมีระบบที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม หากทำไม่ได้ก็ต้องถูกสั่งปิดและเลิกกิจการไป สิ่งเหล่านี้รัฐในฐานะผู้กำกับดูแลต้องเข้ามาจัดการ ขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ในการสังคายนาทั้งระบบด้วย" นายณัฐพงษ์กล่าว