สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย สธ.รณรงค์ให้ผู้สูงวัย 80 ปี ต้องมีฟันดีอย่างน้อย 20 ซี่ พบข้อมูลคนวัยทำงาน 35-44 ปี มีฟันเหลือเฉลี่ย 28 ซี่ -อายุ 56 ปี เหลือแค่ 18 ซี่ โชว์สสจ.สิงห์บุรี 1 ใน 4 พื้นที่ ต้นแบบ ขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” จนประสบผลสำเร็จ
การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสุขภาพในช่องปาก ซึ่งนับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสุขภาพผู้สูงวัยไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพราะเมื่อสุขภาพในช่องปากดี ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเจ็บปวด ทุกข์ใจ ช่วยในการรับประทานอาหารให้เป็นปกติส่งผลต่อสุขกาย สุขภาพจิตก็จะดีตาม
สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ผู้สูงวัย 80 ปี ต้องมีฟันดีอย่างน้อย 20 จากการเก็บข้อมูลจำนวนฟันของคนวัยทำงานอายุ 35-44 ปี มีฟันคงเหลือเฉลี่ยเพียง 28 ซี่ และเมื่ออายุ 56 ปี ลดลงเหลือแค่ 18 ซี่ และในที่สุดเมื่ออายุ 80 ปี จะเหลือฟันไว้ใช้งานได้จริงเพียง 10 ซี่เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากในการได้ใช้ประโยชน์ของฟันเพื่อการ กัด ขบ บด เคี้ยว รับประทานอาหาร
ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย และที่ปรึกษาสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย เปิดเผยถึงโครงการรณรงค์ “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” ว่า สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานในพื้นที่ 10 แห่ง ได้แก่ แพร่, ลำพูน, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, นครปฐม, สิงห์บุรี, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละแห่งมีกลยุทธ์ วิธีขับเคลื่อนโครงการโดดเด่น แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
“ตัวเลข 80-20 คือตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO ) กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ต้องมีจำนวนฟันเหลือในช่องปากอย่างน้อย 20 ซี่ เพื่อใช้ในการรับประทานอาหารให้เป็นปกติ รวมถึงการพูด การยิ้ม ให้เกิดผลดีต่อบุคคลิกภาพด้วย” ทพ.สุธา กล่าว และว่า มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นหลังจากดำเนินงานมานานกว่า 20 ปี ดังนั้นประเทศไทยจึงมีมาตรการเชิงรุกรณรงค์เรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
“สูงวัย 80 ปี มีฟันเพียง 20 ซี่ ยังถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับวัยทำงานที่มี 28 ซี่หรือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ พอ 60 ปีขึ้นไป มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีฟันเหลือ 20 ซี่ การรณรงค์การรักษาฟันแท้ให้ได้ 20 ซี่ จึงเป็นตัวเลขที่ท้าทาย เพราะความจริงแล้วการสูญเสียฟัน ไม่ว่าจะฟันผุ ปริทันต์ เหงือกอักเสบ เป็นโรคพื้นฐาน ที่ทำให้ผู้สูงวัยไทยมีฟันเหลือไม่ถึง 20 ซี่ ส่วนเหตุที่เป็นแบบนี้ ต้องไล่ไปตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเด็กดูแลฟันได้ดี ชุมชนมีการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่กินน้ำอัดลม ไม่กินหวาน เด็กฟันผุน้อย หรือไม่มีเลย จะส่งผลเมื่อเติบโตจนถึงวัยรุ่น วัยทำงาน และสุดท้ายผู้สูงวัย” นพ.สุธา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้สูงวัยมีฟันเหลือน้อยกว่า 20 ซี่จะส่งผลกระทบอย่างไรนั้น ที่ปรึกษากรมอนามัย ขยายความว่า ผู้สูงวัยที่อายุ 80 แล้วมีฟันเหลือไม่น้อยกว่า 20 ซี่ คือสุดยอดของการดูแลสุขภาพในช่องปาก ช่วยให้รับประทานอาหารที่ดี เพราะเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับการบดเคี้ยวอาหารทุกประเภท ทั้งพืชผัก หรือเนื้อสัตว์ แต่พอมีฟันไม่เพียงพอ จะทำให้ขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน ที่เกิดจากการบดเคี้ยวก็จะมีได้ไม่เพียงพอ จากที่จะรับประทานของสด ๆ ก็อาจจะต้องนำไปต้มไปนึ่งให้เกิดความนิ่มสามารถรับประทานได้ แต่ก็ทำให้สูญเสียวิตามินและเกลือแร่หายไปจากความร้อน หรือถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดก็จะส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ อีกอย่างคือ การกินไม่ละเอียด สำลักได้ง่าย มีเชื้อโรคเยอะ เกิดการอักเสบในปอด หรือถุงลม ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
“เราได้มีการณรงค์การดูแลสุขภาพในช่องปากในทุกกลุ่มวัย ทุกรูปแบบ เพื่อให้การดูแลสุขภาพในช่องปากที่ถูกวิธีเข้าถึงคนกลุ่มวัย ตัวอย่างง่าย ๆ คือ ส่งเสริมตัวเลข 2-2-2 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยคือ เช้าและก่อนนอน แปรงฟันครั้งละ 2 นาที และหลังจากนั้นใน 2 ชม. ต้องไปกินอะไรเลย เพื่อให้ฟลูออไรด์ได้เคลือบฟันอย่างเต็มที่ หรือการรณรงค์การใช้สิทธิขั้นพื้นที่เพื่อการรักษาสุขภาพในช่องปาก ส่งเสริมความรู้ การสื่อสารด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าถึงระบบบริการมากขึ้นและง่ายขึ้น เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งคือการเดินทางเข้ารับบริการ ซึ่งผู้สูงวัยอาจจะไม่สะดวก เช่นอยู่ไกลสถานบริการ หรือจะต้องมีคนใกล้ชิดพาไป ซึ่งเป็นอุปสรรคในเข้ารับบริการ” นพ.สุธา กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สิงห์บุรี เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” จนประสบผลสำเร็จ ถือเป็น 1 ใน 4 พื้นทีต้นแบบ จากพื้นที่ 10 พื้นที่เข้าร่วมโครงการ
ทพญ.วังจันทร์ กิตติภาดากุล รอง สสจ. สิงห์บุรี กล่าวว่า การทำให้ผู้สูงอายุ 80 ปีให้มีฟันครบ 20 ซี่เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเมื่อเจอกับการรักษาที่ยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายก็จะปล่อยปละละเลย หรือฟันโยกนิดหน่อยก็มักจะถอนออก เลือกที่จะไม่เก็บฟันไว้แล้ว อีกอย่างเรื่องอุปสรรคการเดินทางเข้ารับบริการเช่นกัน
“ตามหลักแล้วในช่องปากอย่างน้อย จะต้องมีฟัน 4 คู่ที่สบกันเพื่อให้บดเคี้ยวทานอาหารได้ เพราะบางคนรักษาแต่ฟันหน้า แต่ฟันกราม หรือฟันอื่นๆ ไม่มีแล้ว ฟันหน้าคือความสวยงามแต่ฟันหลังคือฟังก์ชั่นใช้งาน แต่เราไม่ต้องลงรายละเอียดขนาดนั้น เอาเป็นว่า ขอให้มีอย่างน้อย 20 ซี่ ก็พอ ซึ่งการดำเนินงานทั่วไปจะประสบปัญหาผู้สูงอายุไม่เข้ารับการรักษาและขาดความรู้ที่เพียงพอ” ทพญ.วังจันทร์ กล่าว และเสริมว่า พื้นที่ จ.สิงห์บุรี เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น ตำบลพิกุลทอง ที่มีประชากรทั้งหมด 3,000 คน แต่มีผู้สูงอายุมากถึง 600 คน จึงได้ขยายงานดูแลสุขภาพฟันด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสะดวกต่อการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพช่องปาก ส่งสริมให้กลุ่ม อสม. มีศักยภาพความสามารถ ความรู้ด้าน เป็นเครือข่ายทันตกรรม สามารถคัดกรองเก็บข้อมูลและส่งคืนข้อมูลได้อย่างเข้าถึง ตรงจุด ถูกต้องและรวดเร็ว และเป็นบัดดี้ดูแลไปตลอดการรักษา
ทพญ.วังจันทร์ กล่าวถึงสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน
โครงการ “80ปี ฟันดี 20 ซี่” ด้วยการเสริมศักยภาพด้านทันตกรรมให้กลุ่ม อสม. เพื่อช่วยคัดกรอง ดูแล รักษาอย่างทันท่วงที และเป็นบัดดี้กับผู้สูงวัย
ด้านนางงามจิต พระเนตร พยาบาลวิชาชีพ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี พิกุลทอง กล่าวถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการขยายเครือข่ายบุคคลากร เพื่อให้ อสม.เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม จำนวน 25 คน ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมศักยภาพเหนือกว่า อสม.ทั่วไป ตั้งแต่การสแกนพื้นที่เป้าหมาย ลงพื้นที่สำรวจด้วยกระบวนการคัดกรองผู้สูงวัยกับสุขภาพในช่องปาก ได้มากถึง 95 เปอร์เซ็นจากจำนวนผู้สูงอายุจำนวน 600 คนที่รับผิดชอบ จนได้กลุ่มสีเขียว ร้อยละ 40 จำนวน 236 ราย สีเหลืองร้อยละ 32.71 จำนวน 193 ราย และสีแดงร้อยละ 27.28 จำนวน 161 ราย
สีเขียว ถือว่ามีสุขภาพในช่องปากที่ดี กลุ่มสีเหลือง เช่นฟันปลอมหลวม ซ่อมฟันปลอม รากฟันเทียม และสีแดงคือกลุ่มที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ปริทันต์ ฟันโยก ฟันคลอน หรือบางรายเป็นฝีมาหลายเดือนไม่ได้รับการรักษา เราพบเคสก็พามารักษาจนหายกลับมาใช้ปากได้ปกติ
“เมื่ออ้าปาก เห็นความทุกข์ของเขาทันที” เป็นคำที่ อสม.ลงพื้นที่แล้วพบเจอหลายเคส ดังนั้นการส่งเสริมให้ครอบครัวมองเห็นสุขภาพในช่องปากเป็นเรื่องใกล้ตัว ด้ายการพาคนในครอบครัวพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าเราทำแบบนี้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง มีการคัดกรองให้เร็ว เพื่อนรับการรักษาเนิ่นๆ และต่อเนื่อง ผู้สูงวัย 80 ปี จะมีฟัน 20 ซี่ ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก และง่ายกว่าการดูแลเมื่อสายไป เพราะถ้าเทียบการทำรากฟันเทียมราคาแพง กับการดูแลมาอย่างสม่ำเสมอ ลดต้นทุนการดูแลรักษาสุขภาพ” นางงามจิต กล่าว