นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบาย แก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และการบริหารลูกหนี้ การช่วยเหลือหนี้ ร่วมด้วย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ) โดยมี กรรมการ บสย. นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป และ คณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ร่วมรับมอบนโยบาย และนำชมการดำเนินงาน ณ บสย. สำนักงานใหญ่ อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 2 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน บสย. ในปีที่ผ่านมา ทั้งด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และผลสำเร็จการช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อสามารถเพิ่มสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อได้แล้วกว่า 25% ของจำนวน SMEs ในระบบ และช่วย SMEs ลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลการแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้มาตรการ 3 สี ของ บสย. ช่วยแก้หนี้สำเร็จคิดเป็นมูลหนี้ปรับโครงสร้างกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปี บสย. ซึ่งได้นำระบบดิจิทัล Digital Technology ขับเคลื่อนองค์กร ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมตามเป้าหมาย SMEs Digital Gateway เชื่อมโยง Eco System ระหว่าง บสย. และสถาบันการเงิน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบาย 3 เรื่องหลัก คือ 1. เรื่องแก้หนี้ SMEs โดยเห็นว่าเรื่องหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือ 2. มอบหมายให้ บสย. ใช้กลไกการค้ำประกัน เป็นหลักประกันช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3. มอบหมายให้ บสย. ร่วมขับเคลื่อน โครงการ IGNITE Thailand ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ผ่านมา บสย. ได้ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อพร้อมเป็นหลักประกัน และช่วยเติมเต็มให้ SMEs ซึ่งบทบาทของ บสย. มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme หรือ PGS ต่อเนื่องจนถึง PGS 10
ขณะนี้กำลังเร่งพิจารณาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 โดยเร็ว เพื่อความต่อเนื่อง ซึ่งเห็นว่าผลดำเนินงาน บสย. ในตลอดระยะเวลา 33 ปี ได้ช่วย SMEs มากกว่า 8 แสนราย และมี Outstanding การค้ำประกัน รวมกว่า 6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการช่วยในมิติจำนวนราย ถือว่า บสย. ช่วยรายย่อยได้มาก พร้อมมอบแนวทางร่วมหน่วยงานรัฐแก้ปัญหา ซึ่งจากนี้ไป บสย. และหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาหนี้ และการช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่ง บสย. ต้องพร้อมเป็นกลไกหลักช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม