กระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวแนวทางในการแก้ไขปัญหาทรัพย์รอการขายทอดตลาด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส 

         ในวันพุธที่ 10 เมษายน 2567 เวลา 11.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ยุติธรรม​ พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม รองศาสตราจารย์ พันตำรวจตรี ดร.เชาวนัสถ์ เจนการ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวเรื่อง "แนวทางในการแก้ไขปัญหาทรัพย์รอการขายทอดตลาด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส" โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ ณ อาคาร​กระทรวงยุติธรรม 

         โดยจากข้อมูลสถิติทรัพย์ค้างการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีล่าสุดประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รายงานว่าปัจจุบันมีทรัพย์ค้างการขายทอดตลาดเกินกว่า 10 ปี ขึ้นไปมากถึง 9,327 รายการ ทุนทรัพย์ตามคำพิพากษา 37,027,099,243 บาท มีราคาประเมินของเจ้าพนักงาน 25,112,106,980 บาท ในจำนวนนี้มีทรัพย์จำนวนมากที่เป็นทรัพย์ด้อยค่าไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถึงแม้จะมีการนำมาขายทอดตลาดหลายครั้งแล้วก็ไม่สามารถขายได้ เช่น ทรัพย์นายประกันวางศาล คอนโดร้าง อาคารห้องชุดเก่าเสื่อมสภาพเนื่องจากไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลได้ พื้นที่ น.ส.3 ซึ่งไม่รู้แนวเขตที่ดินแน่นอน ทรัพย์อยู่ในที่ดินทับซ้อนในเขตป่าหรือที่สาธารณประโยชน์ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยถูกตัดมาแบ่งขาย ที่ดินถูกตักหน้าดินขาย ทรัพย์อยู่ใกล้แหล่งมลภาวะ และพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งทรัพย์ด้อยค่าเหล่านี้มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประเมินว่าหากปล่อยทรัพย์ทิ้งไว้โดยไม่มีมาตรการดำเนินการอะไรจะเกิดความสูญเสียถึง 258,668,850,537 บาท โดยการคำนวณตัวแบบทางเศรษฐศาสตร์จากค่าเสียโอกาสของเจ้าหนี้ในการได้รับชำระหนี้ ต้นทุนของลูกหนี้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มทวีขึ้น ความสูญเสียภาครัฐจากงานซ้ำซ้อน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหากมีโครงการนำทรัพย์ไปใช้ประโยชน์ 

         โอกาส​นี้​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้จากการศึกษาวิจัยดังกล่าว พบว่าสินทรัพย์ที่ค้างขายทอดตลาดมีสินทรัพย์บางประเภทที่ต้องไปหาแนวทางแก้ไข ซึ่งถ้าปล่อยไว้จะเกิดความสูญเสีย ในเบื้องต้นหลังจากได้รับผลการศึกษาวิจัยทรัพย์เหล่านี้จึงมอบให้กรมบังคับคดีไปตั้งคณะกรรมการแก้ไขโดยด่วน บางส่วนอาจจะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหาทรัพย์ขายทอดตลาดที่เกินกว่า 10 ปี ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ซึ่งคณะกรรมการต้องมีทางออกโดยรวดเร็ว และวันนี้ได้เชิญอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาร่วมรับฟัง เพราะสิ่งที่พบในราชทัณฑ์คือ ประมาณ 75% ของผู้ต้องขังในเรือนจำไม่ได้เรียนหนังสือ และเรียนหนังสือต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งถ้าทำให้คนมีการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำจะลดน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมามีการกระทำความผิดซ้ำย้อนกลับมาเกือบ 40% เพราะพวกเขาไม่มีอาชีพ ไม่มีที่อยู่อาศัย ดังนั้น เมื่อมีการบริหารทรัพย์สินนี้เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ออกไปได้มีที่อยู่อาศัย อีกทั้งเป็นการแก้ไขคดีแพ่งที่มีความล่าช้าและยกระดับหลักนิติธรรมของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 

          ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายจะนำทรัพย์ด้อยมูลค่าเหล่านี้มาพัฒนาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมภายใต้มาตรการและความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกินแปลงสุดท้ายหรือการจัดซื้อที่ดินเกษตรที่ไม่เป็นที่ต้องการของนักพัฒนาอสังริมทรัพย์มาจัดสรรให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน การพัฒนาระบบเกษตรแปลงเล็กร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) และวิสาหกิจชุมชนชาวบ้านเพื่อให้เกิดการนำที่ดินแปลงเล็กที่มีราคาถูกมาใช้ประโยชน์ การตรวจสอบแนวเขตที่ดินเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ครอบครองที่ดินโดยสุจริตได้มีโอกาสถือครองที่ดินผ่านโครงการช่วยเหลือเงินทุนจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) หรือหากพบว่าเป็นเขตป่าไม้หรือที่ดินของรัฐจะได้กำหนดวิธีการผ่อนผันให้ใช้ประโยชน์ที่ดินโดยชัดเจนต่อไป การพัฒนาตึกร้าง คอนโดร้าง และอาคารห้องชุดเก่าเสื่อมสภาพผ่านการจัดตั้งกลุ่มชุมชนโดยการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และโครงการต้นแบบการชุบชีวิตตึกร้างร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยของตนเองในเขตเมือง โดยนโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่จะช่วยให้เกิดการนำค้างการขายทอดตลาดที่ถูกทิ้งในระบบเป็นเวลานานอันเป็นทรัพย์ด้อยค่ากลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ และเป็นการกำหนดมาตรการรองรับให้กับลูกหนี้ที่กำลังจะสูญเสียที่ดินทำกินหรือบ้านหลังสุดท้าย รวมถึงเป็นการนำทรัพย์ด้อยค่ามาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมถึงผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ออกไปจะได้มีที่อยู่อาศัย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศต่อไป