วันที่ 10 เม.ย.2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือเอ็มโอยูปี2544

โดยนายไพบูลย์  กล่าวว่า ตนมายื่นเรื่องในฐานะปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติไทยที่อาจได้รับความเสียหาย เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการทำเอ็มโอยูปี2544 ขอให้ตรวจสอบการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในฐานะผู้ถูกร้องที่1 กระทรวงต่างประเทศในฐานะผู้ถูกร้องที่2 ในการทำเอ็มโอยูแบ่งเขตอธิปไตยไทยทางทะเลอ่าวไทย พื้นที่ 26,000ตารางกิโลเมตร หรือ16ล้านไร่ ให้ผล ประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในอ่าวไทยมูลค่า 20ล้านล้านบาทแก่กัมพูชา ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยทั้งหมดตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีป ส่วนตัวเห็นว่าเอ็มโอยูปี2544 เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เอ็มโอยูฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงขัดรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก ไม่มีผลผูกพันรัฐภาคีทั้งสองตามหลักการความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา 

นายไพบูลย์  กล่าวว่า ดังนั้นกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้างเอ็มโอยูปี2544 เป็นหลักฐานว่า ประเทศไทยยอมรับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และเพื่อให้ได้ข้อยุติข้อพิพาทโดยเร็ว ไทยควรฟ้องเรื่องข้อพิพาทเขตอธิปไตยทางทะเลต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เป็นกลไกตุลาการที่มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล  ค.ศ.1982 เชื่อว่า จะใช้เวลา 2ปี อยากให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มส่งเรื่องไปยังศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนี้ ตนจะขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีสิทธิในฐานะคู่ความ นำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ  แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60วัน จะใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เกรงว่าหากกัมพูชานำเรื่องยื่นต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศก่อน โดยใช้เอ็มโอยูปี2544 เป็นหลักฐาน ไทยจะเสียอธิปไตยและผลประโยชน์ทันที ดังนั้นไทยต้องยื่นเรื่องเข้าสู่ศาลก่อนเพื่อความได้เปรียบ