ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ปากน้ำแหลมสิงห์ บรูณาการร่วมกับหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน หาแนวทางส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรป่าชายเลน สร้างรายได้และเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทั้งลดปัญหาข้อขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนให้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

นายมณี รัตนสร้อย

นายมณี รัตนสร้อย ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์แหลมสิงห์ กล่าวว่า ปัจจุบันอำเภอแหลมสิงห์มีผู้ประกอบการโฮมสเตย์ 28 แห่ง ทยอยเริ่มลดลงสืบเนื่องจากผลกระทบในช่วงโควิด 3-4 ปีที่ผ่านมา รายเล็กๆ ของชาวบ้าน เริ่มอยู่ไม่ได้ขณะที่ระดับกลางและใหญ่ยังพอประคับประคองอยู่ได้ จากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิเราเที่ยวด้วยกันทำให้คนมาเที่ยวที่ปากน้ำแหลมสิงห์บ้าง แต่ภาวะการท่องเที่ยวช่วง 1-2 ปีซบเซาเนื่องจากคนไม่มีเงินจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ปัจจุบันกลุ่มครอบครัวมาท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ลูกค้ากลุ่มองค์กร บริษัท ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล มากันพอสมควร โดยเฉพาะวันศุกร์ วันเสาร์ ช่วงเทศกาลผลไม้เมืองจันท์ นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวในตัวเมือง มารับประทานบุฟเฟต์ผลไม้ แต่ว่าพื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวกินปู ดูเหยี่ยว ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปูทะเลปากน้ำแหลมสิงห์จะเป็นอัตลักษณ์ของเมืองจันท์ มาที่นี่มี ปู กุ้ง ให้รับประทานได้ไม่อั้น ตามสโลแกน “กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวแหลมสิงห์”

“นักท่องเที่ยวจะมาเฉพาะวันหยุด  ทำให้การบริหารการจัดการเลี้ยงปู กุ้งค่อนข้างยุ่งยาก คือปูพอโตแล้ว ลูกค้ายังไม่มาจะไปขายที่ไหน ก็จะเกิดปัญหาการบริหารจัดการตรงนี้  ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ต้องไปพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพ่อค้าคนกลางเขาจะบริหารจัดการของเขา พอไม่มีลูกค้าเขาก็ไปหาที่ขายของเขา ทำให้พอช่วงเทศกาลราคาก็จะขยับขึ้น ทำให้รายเล็กอยู่ไม่ได้ รายใหญ่อยู่ได้เพราะจำนวนลูกค้าถัวเฉลี่ย เพราะโฮมสเตย์ไม่ได้กำไรมากมายร้อยละ 70-80 ต้นทุนปูกุ้ง อาหารทะเลตรงนี้ ไม่ใช่มองว่าโฮมสเตย์เกิดขึ้นเยอะแล้วกำไรเยอะด้วย”ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์แหลมสิงห์ กล่าว

ต้นทุนหลักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปากน้ำแหลมสิงห์ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบด้านอาหาร เพราะกำไรต่อหัวไม่มาก จะอยู่รอดได้ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยว อาทิ โฮมสเตย์ที่รับได้ 100 คน มีนักท่องเที่ยวมา 50 คนขึ้นไปจึงจะอยู่ได้ แต่ถ้ารับ 20-30 คน ด้วยราคาวัตถุดิบเฉลี่ยต่อหัวต่อคนไม่พอค่าใช้จ่าย  

การบริหารต้นทุนการท่องเที่ยวเพื่อความอยู่รอดของโฮมสเตย์ปากน้ำแหลมสิงห์ ทางกรรมการสภาอุตสากรรมการท่องเที่ยวเมืองจันทบุรีได้วางแนวทางแก้ไขปัญหานี้ โดยเสนอเป็นวาระจังหวัดให้ส่งเสริมการเพาะพันธุ์ลูกปูทะเล  และดึงชุมชนมาร่วมเลี้ยง นอกจากนั้นร่วมส่งเสริมมาตรฐานเพื่อสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวกินปูดูเหยี่ยว ต่อชุมชนปากน้ำแหลมสิงห์แห่งนี้

นางสาวรัศมินท์ พฤกษทร นายอำเภอแหลมสิงห์

นางสาวรัศมินท์ พฤกษทร นายอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนแหลมสิงห์อยู่กับป่าชายเลนและธรรมชาติ ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ เราพยายามที่จะให้ชาวบ้านได้รักษาวิถีชีวิตของเขาที่จะอยู่กับธรรมชาติให้ได้ และก่อเกิดรายได้ เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน อย่างน้อยการที่เขารู้จักดูแลบ้านตัวเอง ดูแลสิ่งแวดล้อมบ้านตัวเองให้เกิดรายได้โดยยึดหลักตามเศรษฐกิจพอเพียง มันคือความสุขที่เขาจะหาได้และแบ่งปันผู้ที่มาเที่ยวในชุมชนแหลมสิงห์

แผนงานขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง SEDZ (SEDZ : Sufficiency Economy Development Zones) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถเลี้ยงชีพได้ในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืนโดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายอรรถพล หอมเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ กล่าวว่า ปัญหาของชาวชุมชนคือที่พักบางแห่งทรุดโทรมไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงได้ เพราะบางรายไม่มีโฉนด อยู่ในพื้นที่ป่า  ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการจะเข้าไปช่วยดูแลลำบาก เพราะติดกฎหมายป่าไม้ ปัจจุบันทางภาครัฐร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือขายเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ชาวบ้านทำกินบนพื้นที่นั้นได้ เพื่อพัฒนาบ่อกุ้งร้างในพื้นที่ให้สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้โดยไม่บุกรุกป่าชายเลนเพิ่มเติม

นายมณี รัตนสร้อย ประธานชมรมโฮมสเตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ได้เริ่มสร้างมาตรฐานมาเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ทำกันมาโดยไม่มีอะไรเลย ก็จะเริ่มมีใบอนุญาตรายเล็กๆ ได้ใบอนุญาตเป็นโฮมสเตย์ กลุ่มที่รับลูกค้าได้เกิน 30 คนขึ้นไปจะได้ใบอนุญาตเป็นโรงแรม ด้านบุคลากรสนับสนุนให้ได้รับการอบรมจากหน่วยราชการ ทั้งโรงพยาบาล สาธารณสุขมาช่วยพัฒนาให้มีความปลอดภัยด้านอาหาร แม้แต่กรมเจ้าท่าก็ลงมาดูแล การล่องแพเรือที่ล่องแพจะมีใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้มาท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย

“เราเน้นว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่แหลมสิงห์ต้องตรงปก ไม่อั้นจริงๆ มาแล้วรับประทานปู กุ้ง และอาหารทะเลได้เต็มที่เหมือนกับที่โฆษณา และคุณภาพอาหารมีความสดสะอาด มาแล้วต้องประทับใจ การบริการต้องประทับใจ มาแล้วที่สำคัญนอกจากอาหาร การท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อม ได้ความรู้ด้านป่าชายเลนระหว่างการล่องแพชมธรรมชาติ สนนราคาที่พัก 1 คืน พร้อมอาหาร 3 มื้อ เที่ยง เย็น และเช้า ขั้นต่ำให้อยู่ที่ 1,700 บาทต่อคน โดยมีเครื่องเล่นต่างๆ ที่โฮมสเตย์จัดไว้รองรับ ผมพยายามเน้นว่าให้กำหนดราคามาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ เน้นอาหารสด สะอาด อร่อย บริการดี ส่งเสริมการแข่งขันกันด้วยคุณภาพอาหารและการบริการ ส่วนจะมีโปรโมชั่นเสริมการขาย อาทิ บุปเฟต์ผลไม้ เบียร์ไม่อั้นในราคาที่สูงกว่าราคามาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถทำได้ ผู้ประกอบการก็จะอยู่ได้ ถ้าแข่งขันกันด้วยราคาต่ำ  สุดท้ายระยะยาวผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตามการไม่ได้มีโฮมสเตย์เฉพาะในเขตปากน้ำแหลมสิงห์  ในถนนเส้นเดียวกันจะมีโฮมสเตย์อำเภอขลุงอีก 40-50 แห่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ซึ่งตรงนั้นยังเกิดการรวมตัวกันขึ้นมา ปัญหาจึงมีหลายอย่างพอผสมผสานขึ้นมาถึงเราจะดึงกันอย่างไรในกลุ่ม ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเราก็จะเป็นปัญหา”ประธานชมรมโฮมสเตย์แหลมสิงห์กล่าว

นายอรรถพล หอมเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10

นายอรรถพล หอมเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ เจ้าของบ้านนอกทุ่ง โฮมสเตย์ พาเพลินโฮมสเตย์ บันเทิง โฮมสเตย์และณภัทร พูลวิลล่าแอนด์โฮมเตย์ กล่าวว่า ตนเริ่มทำโฮมสเตย์มาประมาณ 11 ปี จุดขายของโฮมสเตย์ปากน้ำแหลมสิงห์ “กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวธรรมชาติ” อาหารทะเลสดๆ ให้บริการไม่อั้น ซึ่งโฮมสเตย์ในย่านหนองชิ่มจะมีหลากหลายรูปแบบไว้รองรับลูกค้า ทั้งแบบบ้านๆ สำหรับลูกค้าที่ต้องการความเงียบสงบ และแบบแอดเวนเจอร์มีเครื่องเล่นสไลเดอร์ ที่พักพร้อมอาหาร 3 มื้อ เริ่มตั้งแต่มื้อกลางวัน เย็นและมื้อเช้า บริการแบบไม่อั้น ในสนนราคา 1,400-1,700 บาทต่อคน

“จันทร์-พฤหัสราคา 1,490 บาทต่อคน ศุกร์เสาร์อาทิตย์ 1,690 บาทต่อคน พร้อมอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน และเย็น รับประทานอาหารเสร็จจะมีกิจกรรมพาไปล่องแพดูเหยี่ยว และกลับมาเล่นเครื่องเล่นที่โฮมสเตย์ อาทิ สไลเดอร์ เรือยาง ช่วงเย็นอาหารให้บริการตั้งแต่ 6 โมงครึ่งถึงเที่ยงคืน มื้อเย็นจะมีอาหารทะเล อาทิ ปูทะเล กุ้ง  นึ่ง ต้ม ย่าง ไอศกรีม เครื่องดื่มหลากหลาย อาหารยอดนิยม อาทิ ปูผัดผงกระหรี่ น้ำพริกกะปิ หมูชะมวง ทอดมัน ส้มตำไก่ย่างฯลฯ เฉพาะปูดำหรือปูทะเลกิโลกรัมเฉลี่ย 400-600 บาท 4-5 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ฉะนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแหลมสิงห์ได้รับความคุ้มค่าจากการมาท่องเที่ยวที่แหลมสิงห์แน่นอนครับ”นายอรรถพล กล่าว


นายมณี รัตน์สร้อย ประธานชมรมโฮมสเตย์ปากน้ำแหลมสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐให้ความช่วยเหลือดีมาก ที่สำคัญที่สุดคือการบริหารการจัดเก็บขยะ ซึ่งตรงนี้ถ้าจัดเก็บไม่ดีจะมีปัญหาเดือดร้อนต่อชาวบ้าน ฉะนั้นท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหา ทางอำเภอให้การสนับสนุน ทุกภาคส่วนมาแนะนำมาพัฒนาร่วมกันจนสามารถสร้างมาตรฐานให้สูงขึ้น 


 “ชาวบ้านที่มาทำงานกับโฮมสเตย์ ก็มีรายได้ตรงถึงชาวบ้าน หรือหากมีวัตถุดิบพืชผักสวนครัว อาหารทะเลกุ้ง ปู กบ ก็จะมีรายได้เพิ่มอีกทาง และยังเปิดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วย อาทิ นำสินค้าโอทอปมาขายในโฮมสเตย์ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น กลุ่มทอเสื่อบางสระเก้า”

ด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง  SEDZ ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 408 ครัวเรือน โดยมีนายธาวิต สุขสิงห์ เป็นประธานการบริหารจัดการในพื้นที่เน้นให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สามารถใช้พื้นที่สร้างรายได้เพื่อการดำรงชีวิต แค่พออยู่พอกินไม่เบียดเบียนธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้และยังได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นสาธารณะประโยชน์อีกด้วย

“ชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจฯเราก็จะให้เขาสมัครเป็นผู้พิทักษ์ป่าขึ้นตรงกับกรมป่าไม้ชายเลนของกรมทรัพยากรธรณีจะร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ป่าที่เรากันไว้ 400 กว่าไร่ ให้เข้าไปกินได้ หาสัตว์น้ำได้ แต่ร่วมกันอนุรักษ์ไม่ให้มีการตัดไม้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป”

นอกจากนี้ยังวางแผนไว้ว่าบ่อกว่า 200 บ่อชายน้ำเค็ม จะทำเลียนแบบโคกหนองนา โดยเน้นเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู เลี้ยงปลาแบบปลอดสารพิษ ไม่เลี้ยงระบบนายทุน อาทิ ปล่อยปู 500 ตัว 2 เดือนชาวบ้านจับปู รายได้วันละ 1,000-2,000 บาท กลุ่มวิสาหกิจฯจะเป็นตัวกลางในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกเพื่อจะนำไปส่งจำหน่ายทางตำบลหนองซิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ ซึ่งมีโฮมสเตย์รองรับ และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มเพื่อซื้อพันธุ์ปู พันธุ์กุ้ง โดยสมาชิกต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อดูว่าใน 1 ปีมีรายได้และการลงทุนเท่าไร

นอกเหนือจากการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ วางแผนไว้ว่า ในส่วนพื้นที่ป่าจะทำทางเดินศึกษาธรรมชาติ 400 กว่าไร่ และฟื้นฟูระบบน้ำให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนสัตว์น้ำ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติในชุมชน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์สมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน