การแพร่พันธุ์ของ “ปลาหมอสีคางดำ” มีการพูดกันมานานมากกว่า 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2555) ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ หรือ แก้ปัญหาแบบองค์รวม (Holistic Solution) เพื่อลดปริมาณของปลาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการจับปลาเป็นช่วงๆ หรือเมื่อมีการร้องเรียน จึงขาดความต่อเนื่องและการบริหารจัดการที่ดี การไล่จับปลาจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่สำคัญคนทั่วไปอาจประหลาดใจ หากได้ทราบความจริง ว่า ปลาและสัตว์น้ำหลายชนิดที่รู้จักกันกว้างขวางและเป็นที่นิยมบริโภคเป็นสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชี่ส์ (Alien Species) เช่น ปลานิล ปลาซัคเกอร์ (ปลาเทศบาล) กุ้งเครฟิช เป็นต้น
ปัจจุบัน สัตว์น้ำสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีซี่ส์ดังกล่าวข้างต้น พบแพร่หลายในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งที่มีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับควบคุม แต่ก็ยังมีการนำเข้ามาทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้า โดยเฉพาะปลานิล มีการเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจไปแล้ว ขณะที่ปลาซัคเกอร์และกุ้งเครฟิช กำลังมีการนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูขึ้นร้านอาหาร เพื่อปลุกกระแสการบริโภค หวังลดปริมาณในธรรมชาติและสร้างตลาดให้กับผู้เลี้ยง ซึ่งการพบมากในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อาจมาจากผู้เลี้ยงนำไปปล่อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลังจากเรียนรู้ด้านลบของสัตว์น้ำเหล่านี้ และการปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.สพ.ญ วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ ภาควิเชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า หากต้องการลดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรมีการศึกษา วิจัย วางแผนและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ 3 ระยะ คือ ระยะต้น ควรส่งเสริมให้เป็นอาหารของคน หรือ ส่งเสริมเป็นอาหารประจำถิ่น (Signature) ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความต้องการ (Demand) รวมถึงจัดมหกรรมจับปลาหมอสีคางดำ ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบทั้งช่วงเวลา ระยะเวลา พื้นที่จับปลาและจัดเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับศึกษาและวิจัย ตลอดจนการจัดการกับปลาที่จับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำไปพัฒนาเป็นเมนูอาหารหรือผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำปลา ปลาร้า ปลาแดดเดียว ผงโรยข้าว ข้าวเกรียบ จนถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าและไม่ให้มีการปล่อยกลับคืนลงไปในแหล่งน้ำอีก
ระยะกลาง ควรทำการศึกษาวงจรชีวิตของปลาซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อเรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่ปลาแพร่พันธุ์ได้ดีที่สุด ช่วงระยะเวลาวางไข่ ช่วงเป็นตัวอ่อน จะช่วยในการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสมในการตัดวงจรชีวิตของปลาหมอสีคางดำตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะเป็นผลดีในการลดปริมาณปลาอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้รัฐบาลและภาคเอกชน ควรให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนา ให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่
ระยะยาว จำเป็นต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำอย่างถูกต้อง เพื่อร่วมมือกันในการกำจัดปลาอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและต่อเนื่อง สร้างความสมดุลทางนิเวศ (Ecological Balance) แบบไดนามิกภายในชุมชนของสิ่งมีชีวิต โดยที่ความหลากหลายทางพันธุกรรม สายพันธุ์และระบบนิเวศ อยู่ในสภาพค่อนข้างคงที่ มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ เพื่อให้ชุมชนสามารถปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา สัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งปลาหมอสีคางดำและสัตว์น้ำสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีซี่ส์ ที่พบในเมืองไทยทั้งที่นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายหรือลักลอบนำเข้า หากหลุดไปสู่แหล่งน้ำในธรรมชาติล้วนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนไม่มีการติดตามหลังจากนำเข้าสัตว์น้ำเหล่านั้น แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการควบคุมและดำเนินการอย่างจริงจังตามกฎหมาย รวมถึงสัตว์น้ำที่มีการตัดต่อยีนส์เพื่อให้มีการเรืองแสงหรือลักษณะพิเศษตามความต้องการของตลาด ก็ยังพบมีการจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องป้องกันและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด การขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าและชนิดของสัตว์น้ำนำเข้า รวมถึงการติดตามจำนวนประชากรที่เพาะพันธุ์ได้ ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นทางที่มาของสัตว์น้ำเหล่านั้น ก็จะช่วยลดปัญหาการนำไปปล่อยในธรรมชาติได้
กรณี ปลาหมอสีคางดำ ควรเร่งดำเนินการจัดร่างแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแบบองค์รวม เพื่อควบคุมให้การแพร่ระบาดของปลาอยู่ในวงจำกัด ด้วยการตัดวงจรชีวิตปลา บริหารจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบ และพัฒนาอาหารให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค ปลาที่จับขึ้นมาต้องไม่สูญเปล่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นรายได้ให้กับชุมชน เพื่อจูงใจให้มีการบริโภคและจับอย่างต่อเนื่อง เมื่อชุมชนอยู่ร่วมกับปลาได้ เมื่อนั้นปริมาณปลาก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สามารถฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติได้ตามเป้าหมาย ปลาหมอสีคางดำ อาจได้เปลี่ยนสถานะจากเอเลี่ยนสปีซี่ส์ เป็นปลาประจำถิ่นของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของไทยก็ได้