กยท. เปิดเวที ติวเข้มครูยางอาสากว่า 100 คนส่งผ่านความรู้-ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาสวนยางอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 67 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดโครงการฝึกอบรมครูยางอาสา หลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยียางสำหรับครูยางอาสา“ พร้อมกิจกรรมศึกษาดูงานตัวอย่างสวนยางอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาศักยภาพครูยางอาสากว่า 100 คน ส่งต่อความรู้การจัดการสวนยางด้วยนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจาก นายศิริพันธุ์ ตรีไตรรัตนกูล กรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบนโยบายการขับเคลื่อนครูยางอาสาเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านยางพารา พร้อมด้วยนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในครั้งนี้ ณ ห้องสุนทรภู่ ชั้น 2 โรงแรม สตาร์ คอนเวนชั่น จ.ระยอง
นายศิริพันธุ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการกระจายความรู้ และสร้างความเข้าใจให้ไปถึงระดับต้นน้ำ จนนำไปสู่ความร่วมมือในการทำงานที่ดี การฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้จึงเป็นเวทีกลางที่ใช้ในการสื่อสาร ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ นวัตกรรม และเทคโนโลยีให้แก่ครูยางอาสา ในการนำไปเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต ภายใต้การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ขัดกับกฎระเบียบทางการค้าของสหภาพยุโรป หรือ EUDR (EU Deforestation - free Regulation) ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางค้าในการขยายตลาดยางพาราไปยังสหภาพยุโรป พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพราคายางให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
“เชื่อมั่นว่าการฝึกอบรมฯ ทั้งในส่วนของการบรรยายและในส่วนของการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานตัวอย่างนั้น จะเป็นประโยชน์ให้กับครูยางอาสาในการสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมถ่ายทอดให้แก่พี่น้องชาวสวนยางในระดับต้นน้ำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ชาวสวนยางต่อไป” นายศิริพันธุ์ กล่าว
สำหรับ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางบริหารจัดการสวนยาง โดยหยิบยกเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิตยางพาราด้วยนวัตกรรมใหม่ ที่ กยท. มีแนวทางส่งเสริมการใช้ฮอร์โมนเอทธิลีนในการเพิ่มผลผลิตยางพารา ซึ่งได้มีการศึกษาในแปลงของเกษตรกรชาวสวนยางแล้วพบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้เป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 24 ชม. ช่วยลดต้นทุนแก่เกษตรกรฯ ในเรื่องการประหยัดแรงงาน รวมถึงส่งเสริมการนำเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ เข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตในสวนยาง ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กยท. โดยเครื่องกรีดยาง 1 เครื่องสามารถกรีดยางได้ทั้งสวน จึงสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะของเกษตรกรฯ ได้
นอกจากนี้ ในโครงการฝึกอบรมฯ ยังมีกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำยางสดให้มีมาตรฐาน และการทำสวนยางอย่างยั่งยืนด้วยเกษตรผสมผสาน ณ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งครูยางอาสาจะได้รับความรู้ในเรื่อง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงทดแทนปุ๋ยเคมีราคาแพง และเข้ารับการฝึกปฏิบัติ การเพิ่มผลผลิตน้ำยางด้วยนวัตกรรมฮอร์โมนเอทธิลีนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับสวนยาง