เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 9 เมษายน 2567 ณ อาคารเรือนแพขาว บริเวณริมเขื่อนสวนเทพปทุม อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเปิดงานโครงการ “ข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม”เนื่องในประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2567 โดยมีนางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเมืองปทุมธานี นายศรัณย์ เกตุทอง นายอำเภอสามโคก นางลัษมา ธารีเกษ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผกก.สภ.เมืองปทุมธานี ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต นายขจรเกียรติ จินดาวรานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ประชาชนในพื้นที่  ร่วมเปิดกิจกรรมโครงการ “ข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม”


เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นหนึ่งใน 5F เทศกาลประเพณี (Festival)  ที่ประเทศไทยได้ผลักดัน และส่งเสริมจนกลายเป็น  ซอฟต์พาวเวอร์ (Thai Soft Power) ที่มีศักยภาพสูงที่สร้างรายได้ ให้กับประเทศจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศ และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 องค์การยูเนสโก(UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าจังหวัดปทุมธานีนั้น มีประเพณีสงกรานต์ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น  อย่างหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายรามัญ คือ ประเพณีส่งข้าวแช่ ข้าวแช่เป็นอาหารที่มีคุณค่า และแฝงไปด้วยคุณค่าสาระภูมิปัญญาชาวรามัญ   ข้าวแช่ ภาษามอญเรียกว่า “เปิงซังกรานต์” เป็นอาหารในพิธีกรรมบูชาเทวดาในช่วงเช้าวันสงกรานต์ จากนั้นชาวบ้านจะจัดขบวนแห่หงส์ ธงตะขาบ นำข้าวแช่ไปถวายพระที่วัด และส่งมอบให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือตามขนบธรรมเนียมเพื่อความเป็นสิริมงคล ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ  เห็นได้ว่าทั้งประเพณีสงกรานต์รามัญ  และข้าวแช่รามัญ ถือเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 5F ที่มีศักยภาพของจังหวัดที่สามารถนำมาต่อยอด ประชาสัมพันธ์ ยกระดับให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ภายใต้แนวคิดอาหารประจำเทศกาลสงกรานต์  ผ่านการจัดงาน “ข้าวแช่แก้ร้อน แต่งมอญวิถีปทุม” ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในรากวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านข้าวแช่ของจังหวัดปทุมธานี กระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว
บรรยากาศภายในงาน มีขบวนแห่ข้าวแช่ มีริ้วขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ แตรวง จากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า) มาจนถึงอาคารเรือนแพขาว บริเวณริมเขื่อนสวนเทพปทุม มีร้านข้าวแช่ชื่อดังของจังหวัดปทุมธานี มาออกร้านให้ได้ลิ้มรสข้าวแช่มอญแท้ๆ อาทิ นิสากรข้าวแช่รามัญ ข้าวแช่ร้านบ้านเรา ข้าวแช่ทุ่งนามอญ ข้าวแช่ภัตตาคารบ้านปากคลองและร้านข้าวแช่บ้านรามัญ


ข้าวแช่เป็นอาหารไทยที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากชาวมอญในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พวกเขามักทำขึ้นโดยเรียกว่า “เปิงซังกรานต์” หรือ “ข้าวสงกรานต์” เพื่อนำไปไหว้บรรพบุรุษ สังเวยเทวดา และถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเชื่อว่าหากไหว้ด้วยข้าวแช่และเครื่องเคียงที่ทำขึ้นมาจะสมปรารถนาตามที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้


ข้าวแช่รามัญ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมด้านอาหารของชุมชนชาวมอญในจังหวัดปทุมธานี นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นอาหารที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยแต่ละบ้านจะมีการเตรียมงานก่อนล่วงหน้าเป็นเดือน อาหารที่รับประทานกับข้าวแช่เมืองปทุมสมัยโบราณนั้นมี 5 ชนิด ประกอบไปด้วย เนื้อเค็ม หรือ หมูเค็ม ปลาช่อนป่น ไชโป๊วหวานผัดไข่ กระเทียมดองผัดไข่ ไข่เค็ม ภายหลังมีการเพิ่มเติมลูกกะปิทอด เข้าไปด้วย 


ข้าวแช่เป็นอาหารที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศร้อนของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่าการกินอาหารที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบจะทำให้ย่อยง่าย และสร้างความสมดุลภายในร่างกาย โดยจะช่วยลดอุณหภูมิลงให้คลายร้อน แล้วยังเติมความชุ่มชื้นให้ผิว ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ผิวแห้ง ปากแตก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกได้  “ข้าวแช่” นอกจากมีรสชาติความอร่อยแล้ว ยังช่วยสนับสนุนสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยได้อีกด้วย