ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.พ.ปริพนท์ จุลเจิม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า " กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาดำเนินการเฝ้าระวัง และสื่อสารเตือนภัยความเสี่ยงต่อสุขภาพในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากความร้อนตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นตะคริวจากความร้อน มีผื่นแดงตามผิวหนัง หรืออาจมีอาการรุนแรงจนเป็นโรคฮีตสโตรก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง เช่น งานก่อสร้าง เกษตรกร


     

ภัยสุขภาพที่สำคัญในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นอีกโรคที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อน ช่วงที่อากาศร้อนจัด ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก จนอาจเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคจากความร้อน คือ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรค เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส 
     

โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยไม่เตรียมร่างกายให้พร้อมต่อสภาพอากาศร้อน นักกีฬากลางแจ้ง ผู้ที่ทำงานในอากาศร้อน คนอดนอน คนดื่มสุราจัด รวมถึงประชาชนทั่วไป อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม อาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้  

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มทันที นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออกก่อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เย็นโดยเร็วที่สุด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ห้ามดื่มน้ำในรายที่ไม่รู้สึกตัว  หากมีอาการชักให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการสำลักจากการอาเจียน ห้ามใช้วัสดุ เช่น ช้อน ส้อม ใส่ในปาก และรีบพาไปพบแพทย์ทันที

สำหรับการป้องกัน ขอให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม และเมื่อเกิดอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว ให้รีบแจ้งบุคคลที่อยู่ใกล้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลทันที ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ  เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

จึงขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงกลางวันหรือช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด  สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์  ทั้งนี้ หากอุณหภูมิสูงสุดขึ้นไปที่ 43 องศาเซลเซียสควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหมั่นสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคฮีตสโตรก ได้แก่ เหงื่อไม่ออก สับสนมึนงง ตัวร้อนจัด ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง  โดยหากพบผู้ป่วยโรคฮีตสโตรกให้รีบพบแพทย์ หรือโทร. 1669 และพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง รวมถึงถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทั้งนี้ สามารถรับคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนได้ที่เว็บไซต์กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422