นอกจาก “รัสเซีย” แล้ว ก็มี “จีน” นี่แหละที่เหล่าประเทศตะวันตก ตลอดจนชาติพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐฯ ยกให้เป็นประเทศคู่แข่ง และภัยคุกคามด้านความมั่นคงของพวกเขา

ถึงขนาดสถาปนาองค์กรความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ สารพัดองค์กรขึ้นมาเพื่อหวังสกัดกั้นปิดล้อม

อาทิเช่น “กลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคง” หรือ “ควอด (Quad)” ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ร่วมมือ ร่วมไม้ ทางการทหาร ในพื้นที่ที่เรียกว่า “อินโด-แปซิฟิก” อันหมายถึง พื้นที่ของสองมหาสมุทร นั่นคือ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสกัดกั้นจีน ที่กำลังขยายอิทธิพลไปในพื้นที่สองมหาสมุทรนี้ อย่างชนิดโตวัน โตคืน

กล่มจตุภาคีด้านความมั่นคง หรือควอด นี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงปี 2007 (พ.ศ. 2550) ก่อนพับฐานในปีถัดมา จากนั้นได้หวนกลับมาสถาปนาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในปี 2017 (พ.ศ. 2560) จนถึง ณ ปัจจุบัน

โดยกลุ่มจตุภาคี “ควอด” ข้างต้น ก็ยังจัดให้มีการซ้อมรบ ระหว่างชาติสมาชิกอีกด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมทางการทหารของกองทัพ 4 ชาติสมาชิก ให้มีความพร้อมรบ หากเกิดการเผชิญหน้ากับปัจจามิตร ซึ่งในที่นี้ก็คือ “จีน” นั่นเอง

เรือรบของกองทัพเรือจีน ในทะเลจีนใต้ (Photo : AFP)

ใช่แต่การการซ้อมรบเท่านั้น แม้ต่อไปภายหน้าก็อาจจะจัดสรรกำลังพลกองทัพ เช่น ทัพอากาศ ทัพเรือ ออกไปปฏิบัติการลาดตระเวนร่วมกันในพื้นที่ของอินโด-แปซิฟิกอย่างเป็นกิจลักษณะของสี่ชาติสมาชิกอีกด้วยต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ทะเลจีนใต้ ของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่กำลังร้อนระอุจากการเผชิญระหว่างจีน ในฐานะคู่ปรปักษ์หลัก กับเหล่าชาติทั้งหลายที่มีปัญหาระหองระแหงพิพาททางน่านน้ำดินแดนระหว่างกันขึ้น

นอกจาก “ควอด” หรือ “กลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคงแล้ว ก็ยังมี “กลุ่มกติกาสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันสั้นๆ จนติดปากว่า “ออคัส” บ้าง หรือ “ออคุส” บ้าง (AUKUS : Australia, United Kingdom, United State of America)

โดยผู้นำการจัดตั้งกลุ่มนี้ ก็มิใช่ใครอื่น คือ “สหรัฐฯ” นั่นเอง

สถาปนาก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2021 (พ.ศ. 2564) ภายใต้การประกาศร่วมของผู้นำ 3 ประเทศ ณ เวลานั้น ได้แก่ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าในการประกาศสถาปนากลุ่มข้างต้น จะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศที่ทางกลุ่มถูกสถาปนาขึ้นมาต่อต้านอย่างชัดเจน แต่ก็ทราบกันอยู่ในที ก็คือ จีน นั่นเอง ที่ทางกลุ่มออคัสมุ่งมั่นที่จะต้านทานการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันเป็นที่รับทราบกันเป็นอย่างดี

พื้นที่ปฏิบัติการก็ครอบคลุมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันเปรียบเสมือนภูมิภาคที่เป็นเวทีประชันของมหาอำนาจสองขั้วค่าย คือ ทางฝั่งจีน กับชาติตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มจตุภาคีฯ ควอด

ความร่วมมือในทางการทหารของกลุ่มออคัสนี้ ก็มุ่งไปที่การพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้ในวิทยาการพลังงานนิวเคลียร์ที่จะนำไปใช้ในเรือดำน้ำ รวมถึงการใช้งานปฏิบัติการของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นประการสำคัญ ในฐานะอาวุธที่หวังใช้เผด็จศึก หากเผชิญหน้ากับจีน ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

โดยในประเด็นเรื่องการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นี้ ถึงขนาดทำให้ “ออสเตรเลีย” กับ “ฝรั่งเศส” ต้องเกิดข้อบาดหมางกัน จากการที่ “ออสเตรเลีย” ล้มดีลการจัดซื้อเรือดำน้ำมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทำไว้กับฝรั่งเศส เพื่อให้ได้ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ทรงประสิทธิภาพดีกว่า

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ (Photo : AFP)

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า นอกจากเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนแล้ว ทางกลุ่มออคัส ก็ยังจะทำหน้าที่เป็นโล่พิทักษ์ปกป้อง “ไต้หวัน” จากการคุกคามของ “จีน” อีกต่างหากด้วย ซึ่งไต้หวัน ก็ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในฐานะที่เป็นด่านหน้าของเกาะโอกินาวา ที่เป็นฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น โดยถ้าหากจีนยึดครองไต้หวันไปได้ ก็ส่งผลต่อฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวา มิใช่น้อย

สำหรับ การดำเนินมาของกลุ่มออคัส ตลอดช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ก็ยังมีชาติสมาชิกอยู่เพียง 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

ล่าสุด กลุ่มออคัสก็ได้เริ่มเล็งหาการขยายชาติสมาชิกมาเพิ่มเติม ซึ่งก็มีหลายชาติด้วยกัน

โดยหนึ่งในก็คือ “ญี่ปุ่น”

ตามการเปิดเผยของคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอกลุ่มออคัส ซึ่งมีขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ถึงกรณีที่จะมีการเพิ่มเติมชาติที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ หรือสมาชิกใหม่ของกลุ่มออคัส นั่นเอง

นอกจากบรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกลุ่มชาติสมาชิกออคัสแล้ว แม้แต่ประธานาธิบดีไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ก็ระบุว่า ต้องการที่ขยายชาติสมาชิก รับสมาชิกเพิ่มเติมเข้ามาในกลุ่มออคัส ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อหาแนวร่วมในการยับยั้งต่อต้านจีนที่กำลังขยายอิทธิพลอย่างหนักในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วยเช่นกัน

โดยมีข้อสังเกตว่า ทั้งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ล้วนเผชิญหน้าประสบปัญหาในการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแห่งนี้

นอกจากญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์แล้ว ก็ยังมีรายงานว่า กลุ่มออคัสก็หวังที่จะดึงให้ “นิวซีแลนด์” เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วน สมาชิกใหม่ของกลุ่มออคัสด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงนิวซีแลนด์แล้ว ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มออคัสตั้งแต่แรก เพราะติดขัดในเรื่องนโยบายของนิวซีแลนด์เอง ที่กำหนดห้ามใช้พลังงานนิวเคลียร์ คือ นิวซีแลนด์ ต้องการให้ประเทศของตนปลอดจากนิวเคลียร์

ทว่า แต่เมื่อนิวซีแลนด์ เผชิญปัญหากับการขยายอิทธิพลของจีนด้วยเช่นกัน ก็อยากที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มออคัส โดยเลี่ยงที่จะไปร่วมมือกับกลุ่มออคัสในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีไซเบอร์ การพัฒนาระบบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และระบบต่อต้านขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง แทนที่จะไปพัฒนาด้านนิวเคลียร์ ซึ่งนอกจากนิวซีแลนด์แล้ว ทางญี่ปุ่น ที่จะถูกผลักดันให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มออคัส ก็จะได้ใช้ความสามารถของตนด้านนี้ให้แก่กลุ่มออคัสในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน