นายกฯ" เรียกถกด่วน บิ๊กบัวแก้ว-แม่ทัพ รับมือสถานการณ์สู้รบในเมียนมาที่กำลังร้อนระอุ หลังรัฐบาลเมียนมาร้องขอให้ไทยเปิดพื้นที่จอดเครื่องบินทหารที่แม่สอด  "นพดล"ห่วงสถานการณ์ย้ำข้อเสนอ 4 ข้อ แนะรัฐบาลตั้งกลไกติดตามสถานการณ์และแผนรองรับผู้หนีภัยสงคราม พร้อมผลักดันการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

    
 จากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาระหว่างทหารเมียนมากับฝ่ายต่อต้านที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน(พีดีเอฟ.) ที่เข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธีของทหารเมียนมาที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้ามต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้นั้น
   
  เมื่อวันที่ 8 เม.ย.67 มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคง หลังการประชุมคณะรัฐมสตรี(ครม.)ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ประกอบด้วย ผบ.กองทัพไทย , ผบ.ทบ. ,รมว.ต่างประเทศ , รมช.ต่างประเทศ ,ที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศ เพื่อหารือแนวทางต่อกรณีสถานการณ์สู้รบในประเทศเมียนมา ซึ่งฝ่ายกองทัพกระเหรี่ยงยึดเมืองเมียวดีได้ ทำให้รัฐบาลเมียนมาประสานขอเที่ยวบินพิเศษ ส่งเครื่องบินพาณิชย์มาลงที่แม่สอดระหว่างวันที่ 7-8-9 เม.ย. และขอความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกการนำเอกสารสำคัญออกจากพื้นที่เมียวดี และการนำเจ้าหน้าที่ที่อพยพเข้ามาส่งกลับไปเมียนมา ซึ่งการนำเครื่องบินมาลงในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องปกติระหว่างรัฐบาลสองฝ่ายและเป็นเรื่องของภารกิจฝ่ายพลเรือน 
   
  พล.ต.ณรงค์ฤทธิ ปาณิกบุตร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 เปิดเผยถึงสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา โดยฝ่ายต่อต้านที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ.) เข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธีของทหารเมียนมาที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้ามต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ยอมรับมีการร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทยในกรอบของรัฐบาล ในการขอความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกเรื่องกลุ่มคนเปราะบาง และการนำเอกสารสำคัญออกจากพื้นที่เมียวดี
   
  สำหรับสถานการณ์ชายแดนขณะนี้เป็นเช่นไรนั้น พล.ต.ณรงค์ฤทธิ กล่าวว่า เข้าใจว่ายังอยู่ในขั้นประสานงานของทางเมียนมาและชนกลุ่มน้อยว่าจะสามารถยอมอะไรได้ตรงไหน ซึ่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.มีประสานขอจอดเครื่องบินทหาร ที่สนามบินนานาชาติแม่สอด จ.ตาก แต่คนก็ยังไม่สามารถออกมาได้ และวันนี้ก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติอะไร เนื่องจากต้องมีการประสานระหว่างทางการเมียนมา และชนกลุ่มน้อยให้ได้เสียก่อน
   
  พล.ต.ณรงค์ฤทธิ กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีประชาชนชาวเมียนมาที่หนีการสู้รบทะลักเข้ามาตามแนวชายแดนมายังประเทศไทยแต่อย่างใด โดยขณะนี้ทางการไทยมีการเตรียมการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็มีการสู้รบ และมีการปฏิบัติการต่อฐานใหญ่ของทหารเมียนมา มีเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิด แต่เมื่อฐานแตกแล้ว ก็ไม่มีเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดแล้ว
     
ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ตามแนวชายแดนได้ตามปกติ ซึ่งทุกส่วนราชการเองก็มีการเตรียมการ และต้องหารือกันเพื่อประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง รวมไปถึงต้องเฝ้าระวังว่าจะสามารถทำอะไรให้ทุกอย่างออกมาได้อย่างเรียบร้อย รวมทั้งในเรื่องการดูแลตามสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
    
 พล.ต.ณรงค์ฤทธิ กล่าวอีกว่า ส่วนกระทรวงการต่างประเทศได้มีการสั่งการอะไรมายังหน่วยทหารในพื้นที่หรือไม่นั้น ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในภาพรวมใหญ่ที่มีการหารือถึงการบริหารจัดการในภาพรวมของรัฐบาล
    
 ด้าน นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ(กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาที่มีรายงานว่ามีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมาไทยแล้วบางส่วน ว่า ในเรื่องนี้คณะกมธ.ต่างประเทศ ได้เคยมีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ ซึ่งยังใช้ได้ทุกข้อคือ 1.รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด 2.มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา 3.ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ และ4.ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาโดยผ่านกลไกทรอยก้าพลัส ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตรงเป้าที่สุด และได้จังหวะเวลาที่สุด
    
 นายนภดล กล่าวว่า ในขณะนี้เหตุการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สู้รบกับ ทางรัฐบาลทหารเมียนมานั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีคำถามว่าเรามีแผนรองรับที่ทันการและครอบคลุมหรือไม่ เนื่องจากการสู้รบน่าจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องในฤดูแล้งและจะมีคนหลบหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น อาจจะมีคนหนีการเกณฑ์ทหารในเมียนมาข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งถามว่าระบบการตรวจสอบและการขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองทันการและสามารถรองรับได้เพียงใด มิฉะนั้นในอนาคตเราก็จะมีบุคคลที่เข้าเมืองแต่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนมากซึ่งอาจจะกระทบต่อปัญหาความมั่นคงในอนาคตได้ 
     
นายนภดล ได้เน้นย้ำว่า จากสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา ตนจึงขอตอกย้ำข้อเสนอ 4 ข้อ ที่คณะกมธ.ต่างประเทศ เคยเสนอไปแล้วเพื่อให้ภาครัฐไปดำเนินการ โดยเฉพาะ ข้อ 1.เร่งรัดการมีกลไกระดับชาติจะเป็นในรูปแบบกรรมการหรือมีเจ้าภาพในรูปแบบอื่นเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในเมียนมาอย่างใกล้ชิดเพื่อมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ และข้อ2 ซึ่งภาครัฐน่าจะสื่อสารแผนรองรับการอพยพหนีภัยสงครามและหนีการเกณฑ์ทหารว่าน่าจะมีจำนวนเท่าใด เพราะในขณะนี้มีข้อมูลว่ามีชาวเมียนมาที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ผ่านช่องทางคนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆบ้างแล้วซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ซึ่งจะมีผลกระทบในระยะยาว
     
ในขณะที่มีผู้หนีภัยสงคราม เราก็ต้องช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าการหลบภัย อาหารอย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าต้นเหตุของปัญหาคือการสู้รบ คิดว่าเวลานี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมากในการที่จะผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมาโดยการตั้งทรอยก้าพลัสเพื่อโน้มน้าวทุกฝ่ายในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในเมียนมาเพราะถ้ามีการสู้รบกันต่อไปคนที่ต้องรับภาระมากที่สุดก็คือประเทศไทยซึ่งเรามีความปรารถนาดี อยากเห็นสันติภาพ เสถียรภาพ และเอกภาพในเมียนมา ดังนั้นไทยควรเป็นหัวหอกหลักในการร่วมมือคุยกับทางประธานอาเซียน จีน อินเดีย และควรดำเนินการทันทีเพราะข้อเสนอในเรื่องนี้นั้นนักวิชาการและผู้สันทัดกรณีเรื่องเมียนมาก็ได้เสนอแนะรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ก็จะปูทางไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุดที่สุด รวมทั้งจะเพิ่มพูนบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วย"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศชายแดนไทย-เมียนมา ที่บริเวณหน้าด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก และบริเวณริมแม่น้ำเมย หลังทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) บุกเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี ของทหารเมียนมา ทำให้ควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี ได้ทั้งหมด เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ยังคงเป็นไปด้วยความสงบ ประชาชนยังคงมีการข้ามแดนและส่งสินค้าตามปกติ ขณะที่บริเวณชายแดนอ.แม่สอดไม่ได้ยินเสียงปืนและระเบิดแล้ว แต่ยังคงมีชาวเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบมาพักแรมบริเวณริมแม่น้ำเมย ฝั่งประเทศเมียนมา