รายงานออกมาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ ผลการสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองในประเทศต่างๆ ที่เป็นชาติสมาชิก “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” ประจำปีล่าสุด คือ 2024 (พ.ศ. 2567) ซึ่งจัดทำโดย “สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษายูโซฟอิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak)” อันเป็นกลุ่มคลังสมอง (Think Tank) หรือสถาบันวิจัยในประเทศสิงคโปร์ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน เกี่ยวกับความเชื่อมั่น เชื่อถือ เชื่อใจ ต่อบรรดาชาติมหาอำนาจทั้งหลาย รวมถึงการฝักใฝ่ หรือแม้กระทั่งว่า หากถูกบังคับให้เลือกข้างว่าจะยืนอยู่ข้างกับชาติมหาอำนาจแห่งใดอีกต่างหากด้วย

โดยทางสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษายูโซฟอิสฮัค ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากพลเมืองชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ผลการสำรวจที่ออกมา ต้องถือว่า พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์จากของเดิมอยู่มิใช่น้อยเหมือนกัน เมื่อปรากฏว่า พลเมืองในอาเซียนส่วนใหญ่ คือ เกินกว่าครึ่งหนึ่งให้คำตอบว่า จะเลือกยืนอยู่ข้างประเทศมหาอำนาจใด หากถูกบังคับให้เลือกว่า จะยืนอยู่ฝั่งของมหาอำนาจ “สหรัฐอเมริกา” หรือจะยืนอยู่ฟากมหาอำนาจ “จีน”

ผลที่ออกมาได้แก่ “จีน” นั่นเอง โดยได้รับการเลือกจากพลเมืองของอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 50.5 ด้วยกัน พลิกแซงหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับ “สหรัฐฯ” ที่ปรากฏว่า ในปีนี้ถูกพลเมืองของอาเซียนเลือกที่จะยืนอยู่ข้างคิดเป็นร้อยละ 49.5

ตัวเลขผลการสำรวจที่ออกมาข้างต้น ก็ถือเป็นครั้งแรก ปีแรก อีกต่างหากด้วย ที่ “จีน” สามารถเอาชนะ “สหรัฐฯ” ได้

ทั้งนี้ เพราะแต่ไหนแต่ไร “จีน” พ่ายแพ้ให้แก่ “สหรัฐฯ” มาโดยตลอดจากการสำรวจของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาแห่งนี้ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ตัวเลขของผลสำรวจที่ออกมา ยังถือเป็นคะแนนนิยมแบบก้าวกระโดดของจีน เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ที่คะแนนนิยมลดลงอย่างฮวบฮาบสวนทางเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น ในการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ปรากฏว่า พลเมืองของอาเซียน เลือกยืนอยู่ข้างสหรัฐฯ จำนวนมากถึงร้อยละ 61.1 ขณะที่ พลเมืองของอาเซียนที่เลือกยืนอยู่กับฝ่ายจีนมีจำนวนเพียงร้อยละ 38.9 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ออกมา ก็ยังนับว่า “จีน” ยังมีคะแนนนิยมตามหลัง “สหรัฐฯ” เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนนิยมที่สหรัฐฯ เคยได้รับเมื่อครั้งอดีต

ทาง “สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษายูโซฟอิสฮัค” ได้สำรวจความคิดเห็นของพลเมืองอาเซียนแบบแยกย่อยในแต่ละประเทศอีกด้วย โดยมีผลการสำรวจดังนี้

“บรูไน” เลือกที่จะยืนอยู่ข้าง “จีน” หากถูกบังคับให้เลือกคิดเป็นร้อยละ 70.1 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วที่ได้ร้อยละ 55.0 ส่วนชาวบรูไนที่เลือกยืนอยู่ฟาก “สหรัฐฯ” มีจำนวนเหลือเพียงร้อยละ 29.9 ลดลงอย่างฮวบฮาบจากการสำรจปีที่แล้วที่เคยได้ไปถึงร้อยละ 45.0

“กัมพูชา” มีตัวเลขของพลเมืองที่จะยืนอยู่ฝั่ง “จีน” ที่ร้อยละ 45.0 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้เพียงร้อยละ 26.9 ส่วนผู้ที่เลือก “สหรัฐฯ” มีจำนวนร้อยละ 55.0 ลดลงจากปีที่แล้วที่เคยได้ถึงร้อยละ 73.1

“อินโดนีเซีย” มีตัวเลขที่ยืนอยู่ฟาก “จีน” ถึงร้อยละ 73.2 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแบบก้าวกระโดดเกือบ 20 จุด ที่ตัวเลขร้อยละ 53.7 ส่วนผู้ที่ยืนอยู่ฝั่ง “สหรัฐฯ” เหลือจำนวนเพียงร้อยละ 26.8 ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 46.3

“ลาว” ได้ตัวเลขของพลเมืองยืนอยู่ฝั่งเดียวกับ “จีน” จำนวนสูงร้อยละ 70.6 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 41.1 ส่วนผู้ที่ยืนอยู่ฟาก “สหรัฐฯ” มีจำนวนร้อยละ 29.4 ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 58.9

“มาเลเซีย” มีพลเมืองเลือกอยู่ข้าง “จีน” ถึงร้อยละ 75.1 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดสำหรับการสำรวจในปีนี้ และเป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดดจากปีที่แล้วที่ได้เพียงร้อยละ 54.8 ส่วนพลเมืองที่เลือก “สหรัฐฯ” มีจำนวนเพียงร้อยละ 24.9 น้อยที่สุดอีกเช่นกัน และยังน้อยกว่าปีที่แล้วที่เคยได้ถึงร้อยละ 45.2

โมเดลจำลองการลงทุนของจีนด้านอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซียโครงการหนึ่ง (Photo : AFP)

“เมียนมา” เลือกอยู่ข้าง “จีน” ที่ร้อยละ 42.3 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 32.2 ส่วนผู้ที่เลือก “สหรัฐฯ” กลับมีจำนวนมากเกินครึ่งที่ร้อยละ 57.7 แต่ก็ลดลงจากปีที่แล้วที่เคยได้ถึงร้อยละ 67.8

“ฟิลิปปินส์” เลือกยืนอยู่ฝั่ง “จีน” เพียงร้อยละ 16.7 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุด และยังเป็นตัวเลขที่ลดลงจากการสำรวจเมื่อปีก่อนที่ได้ร้อยละ 21.2 สวนทางกับการเลือกอยู่ฟาก “สหรัฐฯ” ที่ได้มากถึงร้อยละ 83.3 นับเป็นตัวเลขสูงสุดในการสำรวจปีนี้ และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่เดิมก็สูงเช่นกันที่ร้อยละ 78.8

ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ประท้วงจีน หลังเกิดการเผชิญหน้าในพื้นที่หมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ (Photo : AFP)

“สิงคโปร์”เลือกอยู่ฝ่าย “จีน” ที่ร้อยละ 38.5 ลดลงจากเดิมเมื่อปีที่แล้วอยู่เล็กน้อยที่ร้อยละ 38.9 ส่วนผู้ที่เลือกอยู่ฝั่ง “สหรัฐฯ” มีจำนวนร้อยละ 61.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่ได้ร้อยละ 61.1

“ไทย” เลือกอยู่ฟาก “จีน” ที่ร้อยละ 52.2 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 43.1 ส่วนผู้ที่ยืนอยู่ข้าง “สหรัฐฯ” เหลืออยู่จำนวนร้อยละ 47.8 ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 56.9

ปิดท้ายที่ “เวียดนาม” เลือกอยู่ข้าง “จีน” จำนวนร้อยละ 21.0 ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 22.1 ส่วนผู้ที่เลือกอยู่ฝั่ง “สหรัฐฯ” มีจำนวนถึงร้อยละ 79.0 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 77.9

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ลดลง รวมไปจนถึงขั้นเปลี่ยนขั้วย้ายข้างกันเลยนั้น ก็มีหลายประการด้วยกัน ซึ่งหลักๆ ก็มาจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และทางการทหารระหว่างประเทศ ตลอดจนการเป็นคู่ค้า รวมถึงการทุ่มเม็ดเงินลงทุนของชาติมหาอำนาจทั้งสอง

อาทิเช่น จากการที่สหรัฐฯ ในยุคปัจจุบันให้ความสนใจต่อภูมิภาคอาเซียนลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับจีนที่ทั้งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และทุ่มเม็ดเงินเข้ามาลงทุน รวมถึงการเดินหน้าในอภิมหาโครงการ หรือเมกะโปรเจ็กต์ อย่าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นต้น จึงส่งผลให้คะแนนนิยมของจีนดีวันดีคืนในภูมิภาคแห่งนี้ ยกเว้นบางประเทศที่มีปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ เช่นกับฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะเดียวกัน ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่นับถือศาสนาอิสลามก็มีความนิยมในสหรัฐฯ ลดน้อยลง จากผลพวงของสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่สหรัฐฯ เลือกยืนอยู่ข้างอิสราเอลเป็นเหตุปัจจัย