เมื่อวันที่ 8 เมษายน กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอคืนพื้นที่อาคารพาณิชย์ 35 คูหา ด้านทิศตะวันตกของสถานีรถไฟนครราชสีมา ริม ถ.มุขมนตรี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-5 งานโยธา ช่วงสถานีโคกรวด-สถานีนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟท. และมีเอกชนเช่าช่วงก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ผู้เช่าส่วนหนึ่ง อ้างอยู่อาศัยกว่า 35 ปี ไม่ยอมย้ายออกและพยายามต่อรองขอค่าขนย้าย ต่อมา รฟท.ได้นำป้ายประกาศไปติดหน้าอาคารที่มีข้อพิพาท ระบุ “รฟท.ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าลงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ขอแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ให้เช่าและให้ส่งมอบพื้นที่คืนในสภาพเรียบร้อย ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2567 หากไม่ดำเนินการ จะใช้สิทธิดำเนินการฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายต่อไป”
รวมทั้งนำแบริเออร์ไปปิดกั้นด้านหน้า ก่อนครบเงื่อนเวลาผู้เช่าที่ดื้อแพ่ง 3 ราย ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกก่อนครบเงื่อนเวลา เหลือผู้เช่า 2 ราย ไม่ยอมออก ส่งผลให้บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง พบปัญหาอุปสรรคไม่สามารถนำเครื่องจักรกลเข้าไปปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแนวเขตก่อสร้างสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ให้บริการรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ จึงต้องชะลอการรื้อถอน ส่วนพนักงาน รฟท. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอาคารสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ได้ย้ายวัสดุอุปกรณ์มาไว้อาคารชั่วคราวด้านข้างรวมทั้งผู้รับจ้างได้ทยอยย้ายอาณัติสัญญาณของรถไฟทางคู่เดิมมาติดตั้งที่ตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราว เพื่อเตรียมรื้อถอนอาคารสถานีเก่าอายุกว่า 80 ปี ในเร็วๆนี้
ความคืบหน้าล่าสุด ที่ห้องประชุม สถานีรถไฟนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย รฟท. นัดผู้เช่าอาคาร 35 คูหา มาทำบันทึกสละพื้นที่เช่าและการครอบครองสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถเข้าพื้นที่ทำการรื้อถอน ปรากฏมีจำนวน 10 รายไม่ได้มาดำเนินการ ส่วน 2 ราย ที่ไม่ย้ายออกมาตามนัด แต่ไม่ยอมทำบันทึกแต่อย่างใด แม้นฝ่ายกฎหมายพยายามชี้แจงขอความร่วมมือก็ไม่เป็นผล ผู้เช่า 2 ราย ซึ่งมาทั้งครอบครัวอ่านเอกสารแล้ว พากันเดินทางกลับ จากนั้น รฟท.ได้มอบหมายให้ผู้รับจ้างนำป้ายไปติดประกาศการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ติดประกาศ
ฝ่ายกฎหมายรฟท. เปิดเผยไทม์ไลน์ที่ดินรถไฟของผู้เช่า 35 คูหาว่าปี พ.ศ 2532 นายทุนจากกรุงเทพมหานคร ได้ขอเช่าที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เนื่องจากอยู่ย่านชุมชนใจกลางเมืองโคราช จึงมีผู้เช่าประกอบการค้าทั้งตลาดสด ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ คลินิกแพทย์ ห้างขายทอง ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเรียน ร้านขายของชำ สำนักงานกฎหมาย ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ฯ ต่อมามีการเปลี่ยนการครอบครองขายสิทธิต่อกันโดยเซ้งกิจการแล้วแต่ทำเล คูหาละ 5-8 แสนบาท จนกระทั่งรัฐบาลมีเมกะโปรเจกต์ รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ จึงไม่ต่อสัญญาเช่าพร้อมขอคืนพื้นที่ ปรากฏผู้เช่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและการตรวจสอบพบผู้เช่ากว่า 10 ราย ไม่จ่ายค่าเช่านานหลายปี มียอดค้างสะสมรวมหลายแสนบาท กรณีดังกล่าว รฟท.จะเรียกเก็บหนี้ที่ค้างชำระ ส่วนผู้เช่าที่จ่ายครบจะคืนค่าประกันสัญญาเช่าพื้นที่คูหาละ 3.5 หมื่นบาท สำหรับผู้เช่า 2 ราย ที่ดื้อแพ่งได้ยื่นฟ้องให้ศาลจังหวัดนครราชสีมา ขอให้ออกหมายบังคับคดีขับไล่พร้อมจ่ายค่าใช้ประโยชน์ที่ดิน
ทั้งนี้ รฟท.ได้แจ้งผลงานสะสมถึงสิ้นเดือนมีนาคม 10.61%. ภาพรวมช้ากว่าแผนงาน 3.92 % และแจ้งปิดถนนจุดตัดที่ 9 ท้ายชุมชนหลักร้อย เพื่อก่อสร้างระบบระบายน้ำและสะพานยกระดับ Pier52 เนื่องจากต้องนำเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับงานเข็มเจาะเข้าทำงานบริเวณดังกล่าว จึงไม่สามารถให้สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวได้